หน้าเว็บ

วันจันทร์ที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2559

พิษณุโลก มหาวิทยาลัยนเรศวร ร่วมพลิกฟื้นพระราชวังจันทน์



ความภาคภูมิใจของชาวมหาวิทยาลัยนเรศวร ร่วมพลิกฟื้นพระราชวังจันทน์
เป็นแหล่งท่องเที่ยวเรียนรู้ สะท้อนความรุ่งเรืองของประวัติศาสตร์ชาติไทย
ในสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช



            วันที่ ๑๙ ธันวาคม ๒๕๕๘ นับเป็นวันแห่งความปลื้มปิติและความภาคภูมิใจของชาวจังหวัดพิษณุโลก เมื่อสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนิน ณ พระราชวังจันทน์ ดินแดนแห่งประวัติศาสตร์ชาติไทย ด้วยเป็นสถานที่ประทับของสมเด็จพระบรมไตรโลกนารถ สถานที่พระราชสมภพและประทับขณะดำรงตำแหน่งพระมหาอุปราชของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีทรงพระสุหร่ายพระอัฏฐารสศรีสุคตทศพลญาณบพิตร (จำลอง) หรือพระอัฏฐารส และทรงเปิดป้ายอาคารศูนย์ประวัติศาสตร์พระราชวังจันทน์

            ในฐานะของคนทำงาน ณ สถานอารยธรรมศึกษา โขง-สาละวิน มหาวิทยาลัยนเรศวรให้รู้สึกอิ่มเอิบใจ ด้วยเป็นหนึ่งในฟันเฟืองขับเคลื่อนการบูรณะและพัฒนาพระราชวังจันทน์ ตามนโยบายของศาสตราจารย์ ดร.สุจินต์ จินายน อธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร ด้วยเป็นสถาบันการศึกษาที่ได้รับพระราชทานพระนามของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชเป็นชื่อของมหาวิทยาลัย
            “เมื่อมีคนถามถึงพระราชวังจันทน์ ถ้าเราชาวมหาวิทยาลัยนเรศวร รวมทั้งชาวพิษณุโลกไม่มีองค์ความรู้ที่รวบรวมไว้เลยคงตอบไม่ได้ ทั้ง ๆ ที่เป็นประวัติศาสตร์ที่มีความสำคัญต่อประเทศชาติเป็นอย่างมาก ถ้าเราฟื้นฟูพระราชวังจันทน์ขึ้นมา ก็จะเป็นจุดที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ในฐานะที่เป็นเมืองเอกของเมืองหลวงในแทบทุกยุคทุกสมัย”
-          จัดการเสวนาวิชาการ โดยระดมผู้เชี่ยวชาญระดับปรมาจารย์ ทั้งด้านประวัติศาสตร์ โบราณคดีและสถาปัตยกรรม เช่น นายพีรพน พิสณุพงศ์ ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ ๖ สุโขทัย (ตำแหน่งในขณะนั้น), ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. สันติ  เล็กสุขุม นักประวัติศาสตร์ศิลปะ ผู้สร้างรูปแบบสันนิษฐานซึ่งจัดวางอยู่ ณ พระราชวังจันทน์, ศาสตราจารย์ ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์ คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ไทย, ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.สุรพล วิรุฬห์รักษ์ ราชบัณฑิต, รองศาสตราจารย์ ดร.มังกร ทองสุขดี นักประวัติศาสตร์ท้องถิ่น เป็นต้น เพื่อร่วมแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ความคิดเห็นในมุมมองต่าง ๆ เกี่ยวกับการพัฒนาพระราชวังจันทน์ ตลอดจนการลงพื้นที่ปฏิบัติการ ณ พระราชวังจันทน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นคณะแรกที่ได้ศึกษาศูนย์ประวัติศาสตร์พระราชวังจันทน์ซึ่งสร้างเสร็จแล้ว แต่ยังไม่เปิดให้บริการ นับเป็นโครงการสำคัญกระตุ้นให้เกิดการการบริหารจัดการและบูรณะ พัฒนาพระราชวังจันทน์



-          จัดงาน “ย้อนอดีตพระราชวังจันทน์ สร้างสรรค์เมืองพิษณุโลกสองแคว” ประกอบด้วยการจำลองวิถีชีวิต วัฒนธรรมในยุคสมัยของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช นิทรรศการพระราชประวัติสมเด็จพระนเรศวรมหาราชและประวัติศาสตร์พระราชวังจันทน์ พร้อมการแสดงละครเทิดพระเกียรติ
-          เป็นวิทยากรในการอบรม สัมมนา และร่วมประชุมหารือแนวทางการพัฒนาพระราชวังจันทน์
สู่แหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์และแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมของจังหวัดพิษณุโลก ในฐานะคณะกรรมการอำนวยการอนุรักษ์และพัฒนาพื้นที่โบราณสถานพระราชวังจันทน์
-          จัดสร้างรูปแบบสัณฐานพระที่นั่งในพระราชวังจันทน์ในรัชสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราชใน
รูปแบบสองมิติและสามมิติ โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วศิน ปัญญาวุธตระกูล ผู้อำนวยการสถานอารยธรรมศึกษา โขง-สาละวิน มหาวิทยาลัยนเรศวร อันนำมาสู่การจัดสร้างพระที่นั่งจำลองในปัจจุบัน  
ปัจจุบันพระราชวังจันทน์ซึ่งมีพื้นที่ ๑๒๘ ไร่ ๒ งาน ๕๐ ตารางวา ได้รับการบูรณะ ปรับปรุง พัฒนา บำรุง รักษา โดยองค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก ซึ่งได้รับการถ่ายโอนจากกรมศิลปากร คาดว่าใช้เวลาอีก ๒ ปีจึงจะเสร็จสมบูรณ์ อย่างไรก็ตาม ภายหลังการเสด็จพระราชดำเนินของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เปิดให้ประชาชนทั่วไปได้เข้าศึกษา เยี่ยมชมพระราชวังจันทน์ ตั้งแต่วันที่ ๒๐ ธันวาคม ๒๕๕๘

การกลับมาเยือนพระราชวังจันทน์ของชาวสถานอารยธรรมศึกษา โขง-สาละวินในครั้งนี้ สัมผัสได้ถึงความเปลี่ยนแปลงของภูมิทัศน์โดยรอบอันสะอาด สดใส สวยงาม ร่มรื่น สบายตา ขณะนี้อยู่ในระหว่างการสร้างพระที่นั่งในรัชสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช การพัฒนาบริเวณสระสองห้อง สระน้ำโบราณ ในอดีตเป็นสถานที่สรงสนานของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชและสมเด็จพระเอกาทศรถ ตลอดจนการบูรณะอาคารไม้ทรงโบราณอายุกว่า ๑๐๐ ปี สำหรับจุดที่ผู้มาเยือนสามารถเยี่ยมชมได้อย่างเต็มรูปแบบ คือ ศูนย์ประวัติศาสตร์พระราชวังจันทน์ พระอัฏฐารสศรีสุคตทศพลญาณบพิตร (จำลอง) และวัดสำคัญต่าง ๆ  ปกติแล้ว การเยี่ยมชมพระราชวังจันทน์จะมีมัคคุเทศก์คอยนำชมให้ความรู้ทุกวัน ตั้งแต่ ๐๙.๐๐ – ๑๖.๐๐ น. แต่ในวันนี้เรามีมัคคุเทศก์กิตติมศักดิ์ คือ คุณลุงสิทธิชัย โหมดจิ๋ว พนักงานรักษาความปลอดภัยที่ไม่ได้ผ่านการอบรมด้านการนำชม แต่เปี่ยมด้วยพลังของประสบการณ์ตรง จากการใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่แห่งนี้


พระอัฏฐารสศรีสุคตทศพลญาณบพิตร (จำลอง) หรือพระอัฏฐารส เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นขนาดสูง ๑๐ เมตร ๕๒ เซนติเมตร ซึ่งคณะกรรมการโครงการอนุรักษ์และพัฒนาพื้นที่โบราณสถานพระราชวังจันทน์จัดสร้างขึ้นเพื่อประดิษฐาน ณ วัดวิหารทอง ดังที่เคยมีมาเมื่อครั้งอดีต เนื่องจากภายในวิหารของวัดวิหารทองเดิมเป็นที่ประดิษฐานพระอัฏฐารส ศิลปะสกุลช่างสมัยสุโขทัยตอนต้น หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ทั้งองค์ ซึ่งแตกต่างจากพระอัฏฐารสองค์อื่น ซึ่งมักจะสร้างด้วยการก่ออิฐถือปูน สมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้อัญเชิญพระอัฏฐารสของวัดวิหารทองไปยังกรุงเทพฯ โดยสร้างวิหารขึ้นใหม่ที่วัดสระเกศ และอัญเชิญพระอัฏฐารสมาประดิษฐานในวิหารเมื่อ พ.ศ. ๒๓๖๘ ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ได้ทรงเฉลิมพระนามพระอัฏฐารสองค์นี้ว่า พระอัฏฐารสศรีสุคตทศพลญาณบพิตร

ศูนย์ประวัติศาสตร์พระราชวังจันทน์ จัดสร้างโดยกองทัพภาคที่ ๓ กรมศิลปากร บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) และมูลนิธิเย็นศิระเพราะพระบริบาล  ตามโครงการอนุรักษ์และพัฒนาพระราชวังจันทน์ ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๒๐ สิงหาคม ๒๕๔๕ เพื่อเป็นสถานที่เรียนรู้ ศึกษาทางโบราณคดีและประวัติศาสตร์ของจังหวัดพิษณุโลก ลักษณะเป็นอาคารกลุ่มชั้นเดียวเชื่อมต่อกัน สถาปัตยกรรมแบบไทยประยุกต์หลังคาทรงปั้นหยาผสมจั่ว


ภายในศูนย์ประวัติศาสตร์พระราชวังจันทน์แบ่งเป็นห้องนิทรรศการ ๖ ส่วน

ส่วนที่ ๑ เป็นส่วนต้อนรับ ให้บริการข้อมูลแก่ผู้เข้าชม มีการจัดทำแอพพิเคชั่น "chan palace" เพื่ออำนวยความสะดวกการเข้าถึงข้อมูลผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่
ส่วนที่ ๒ "พิษณุโลก: เมืองประวัติศาสตร์สำคัญที่ตั้งอยู่บนสองฝั่งแม่น้ำน่าน" จัดแสดงภาพรวมทั้งด้านทางภูมิศาสตร์ ลักษณะทางกายภาพและข้อมูลพื้นฐานของจังหวัด
ส่วนที่ ๓ "บันทึกประวัติศาสตร์ ๙ ศตวรรษ เมืองพิษณุโลก" จัดแสดงเรื่องราวตั้งแต่กำเนิดเมืองสองแคว จนถึงปัจจุบันเป็นศูนย์กลางภาคเหนือตอนล่าง  ปกติเราจะรู้จักพิษณุโลกในอีกสองชื่อว่า สองแคว กับ อกแตก ด้วยมีแม่น้ำสองสายไหลผ่านคือแม่น้ำน่านและแม่น้ำแควน้อย โดยแม่น้ำน่านไหลผ่านกลางเมืองพิษณุโลก แต่ที่นี่เราจะได้รู้จักพิษณุโลกในอีก ๒ ชื่อ คือ เมืองสรลวงสองแควและเมืองชัยนาท ซึ่งเป็นชื่อที่มีมาก่อนที่สมเด็จพระบรมไตรโลกนารถซึ่งเสด็จฯ มาประทับที่เมืองนี้ โปรดให้ขนานนามว่าเมืองพิษณุโลก หมายถึงที่ประทับของพระนารายณ์ตามความเชื่อที่ว่า พระมหากษัตริย์คืออวตารหนึ่งของพระนารายณ์
ส่วนที่ ๔ "ศิลปกรรมและงานช่างหลวงพิษณุโลก" มีแผนผังพระราชวังจันทน์และวัดสำคัญโดยรอบ ตลอดจนวัดสำคัญในพิษณุโลก คุณลุงสิทธิชัยชี้ให้เราดูภาพของวัดหนึ่งซึ่งเราและหลายคนคาดไม่ถึงว่าจะจัดแสดงอยู่ในห้องนี้คือ วัดอรัญญิก ซึ่งตั้งอยู่นอกกำแพงเมืองพิษณุโลก สันนิษฐานว่าสร้างมาตั้งแต่สมัยพระมหาธรรมราชาที่ ๑ (พระยาลิไท) แห่งกรุงสุโขทัย ในคราวเสด็จฯ มาครองราชสมบัติที่เมืองพิษณุโลก ระหว่างพ.ศ. ๑๙๐๔ – ๑๙๒๑ วัดอรัญญิกแห่งนี้เป็นตัวอย่างที่สะท้อนให้เห็นอิทธิพลของสุโขทัยและอยุธยาที่มีต่อเมืองพิษณุโลกเป็นอย่างดี ในห้องนี้ยังมีเกมดิจิตอลค้นพบโบราณสถานที่สำคัญให้ผู้เข้าชมได้เล่นเพื่อความสนุกสนานและได้รับความรู้ด้วย คุณลุงชี้ให้ดูช่องบรรจุหลอดไฟ จำนวน ๒๔ ช่องบนผนังกำแพง ที่ตอนแรกเราคิดว่าเป็นเพียงการตกแต่ง แต่คุณลุงก็ชวนให้คิดว่าน่าจะมีความหมาย เช่น แทน ๒๔ ชั่วโมงใน ๑ วัน เรื่องนี้คงต้องหาความจริงกันต่อไป อีกหนึ่งความสำคัญของห้องนี้คือ ผังจำลองพื้นที่โบราณสถานพระราชวังจันทน์ ให้ได้ศึกษาอย่างชัดเจน ตั้งแต่ตัวอาคารศูนย์ประวัติศาสตร์พระราชวังจันทน์ ศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช และส่วนที่อยู่ในระหว่างการก่อสร้าง พัฒนา คือ พระที่นั่งในรัชสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช สระสองห้อง ตลอดจนการบูรณะอาคารไม้ลักษณะสถาปัตยกรรมไทยทรงปั้นหยา จำนวน ๒ หลัง ซึ่งตั้งอยู่บริเวณด้านหน้าศูนย์ประวัติศาสตร์ฯ เมื่อเดินเข้ามาอีกห้อง พบกับรูปแบบสันนิษฐานพระราชวังจันทน์ โดยศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. สันติ  เล็กสุขุม แสดงให้เห็นพระราชวังจันทน์ทั้ง ๓ สมัย ที่คุณลุงเปิด-ปิดไฟให้เราดูขอบเขตของแต่ละยุคสมัย แถมด้วยตัวอย่างของโบราณวัตถุ (จำลอง) ที่ขุดค้นพบ เช่น เครื่องถ้วยจีน, คนโทสำริด เป็นต้น
ส่วน ๕ “จากเจ้าฟ้าพระองค์น้อยแห่งวังจันทน์สู่พระมหาวีรบุรุษของชาติไทย” จัดแสดงพระราชประวัติและวีรกรรมของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ได้รู้จักพระนามของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชจากหลักฐานต่าง ๆ เช่น พระนารายณ์บพิตรเป็นเจ้า จากพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์, สมเด็จบรมบาทบงกชลักษณ์อัครบุรีโสดมบรมหน่อนราเจ้าฟ้านเรศเชษฐาบดี จากบานแพนก กฎหมายลักษณะกบฏศึก ตอน ๑ จุลศักราช ๙๕๕ รัชสมัยสมเด็จพระเอกาทศรถ, พระราชาไฟ จากจดหมายเหตุของนายปีเตอร์ ฟลอริส เรียกพระนามเป็นภาษามลายู เป็นต้น เรื่องราวและการจำลองเหตุการณ์สำคัญ ได้แก่ พระแสงปืนต้นข้ามแม่น้ำสะโตง, พระแสงดาบคาบค่าย, พระมาลาเบี่ยงและโล่, พระแสงทวน, พระแสงของ้าวแสนพลพ่าย สุดท้ายก่อนออกจากห้องนี้ได้สักการะพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ซึ่งคุณลุงสิทธิชัยบอกว่ามีลักษณะสมบูรณ์แบบที่สุด

ส่วนที่ ๖ นิทรรศการหมุนเวียน จัดแสดงเรื่องราว เหตุการณ์ การบูรณะ พัฒนาพระราชวังจันทน์ เช่น พระราชวังจันทน์เดิมเป็นที่ตั้งของโรงเรียนพิษณุโลกพิทยาคม, การถ่ายโอนพระราชวังจันทน์จากกรมศิลปากรให้กับองค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก, การพัฒนาพระราชวังจันทน์ ปี ๒๕๕๘ งบประมาณ ๕๐ ล้านบาท, จัดการแสดงแสง เสียง เทิดพระเกียรติสมเด็จพระนเรศวรมหาราช, การอบรมมัคคุเทศก์น้อยแนะนำพระราชวังจันทน์ ซึ่งคุณลุงสิทธิชัยบอกว่า ในช่วงปิดเทอมหรือเสาร์/อาทิตย์จะมีมัคคุเทศก์น้อยจากโรงเรียนต่าง ๆ เช่น เฉลิมขวัญสตรี, จ่านกร้อง, โรงเรียนในสังกัดเทศบาลนครพิษณุโลก เป็นต้น
ขณะเดินชมอาณาบริเวณโดยรอบศูนย์ประวัติศาสตร์พระราชวังจันทน์ เราก็ได้รับความรู้ เกร็ดชวนสนใจจากคุณลุงสิทธิชัยอีกหลายอย่าง เช่น
-          ในการบูรณะอาคารไม้โบราณ ๒ หลังให้อยู่ในสภาพสมบูรณ์ตามรูปแบบสถาปัตยกรรมไทยโบราณต้องใช้ความละเอียด ประณีตอย่างสูง เนื่องจากอาคารทั้ง ๒ หลังมีอายุถึง ๑๑๘ ปี สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ โดยเป็นจะปรับปรุงให้สถานที่จัดแสดงนิทรรศการและอนุรักษ์ศิลปะอันทรงคุณค่า
-          เนื่องจากพระราชวังจันทน์ ตั้งอยู่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำน่าน ตรงข้ามกับวัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร (วัดใหญ่) ซึ่งประดิษฐานหลวงพ่อพระพุทธชินราช จึงมีแผนที่จะก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำน่าน เชื่อมสถานที่สำคัญทั้ง ๒ แห่ง เพื่อความสะดวกของนักท่องเที่ยว
-          ในจำนวน ๑๕ โครงการการพัฒนาพระราชวังจันทน์นั้น สิ่งที่ยังไม่ได้ทำคือ การก่อสร้างห้องสุขาและอาคารร้านค้า ซึ่งนับว่ามีความสำคัญไม่แพ้ส่วนอื่น
-          เมื่อเราแนะนำว่านอกจากมัคคุเทศก์น้อยแล้ว ให้คำนึงถึงมัคคุเทศก์ใหญ่ด้วย นั่นคือ ผู้สูงอายุเช่นเดียวกับคุณลุงสิทธิชัย เพราะจะได้องค์ความรู้ที่หาไม่ได้จากตำรา คุณลุงก็บอกว่ามีข้าราชการบำนาญมาเป็นอาสาสมัครในการนำชมแล้ว นับเป็นจิตอาสาที่น่านับถือยิ่ง
เมื่อถึงเวลาของการชมส่วนอื่น ๆ คุณลุงสิทธิชัยก็ให้คำแนะนำอย่างตั้งใจ ซึ่งแต่ละแห่งอยู่ไม่ไกลกัน เริ่มจากวัดวิหารทอง วัดโพธิ์ทอง วัดศรีสุคต สระสองห้อง ศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช และใกล้กันเป็นการก่อสร้างพระที่นั่งในรัชสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช พิเศษสุด เราไม่ลืมตรงไปสักการะศาลหลักเมืองเดิมตามคำแนะนำของคุณลุง ซึ่งน้อยคนนักจะรู้จัก เนื่องจากไม่ได้อยู่ในเขตพระราชวังจันทน์ ตั้งอยู่บริเวณด้านหลังศาลากลางจังหวัด และไม่ได้เป็นพื้นที่ที่ผู้คนจะพบเห็นได้โดยง่าย ทั้งนี้แม้ว่าจะมีการสร้างศาลหลักเมืองขึ้นมาใหม่แล้ว แต่ศาลหลักเมืองเดิมนี้ก็ยังได้รับการสักการะบูชาจากคนในพื้นที่


 วันนี้เราเอมอิ่ม ภูมิใจ สุขใจ กับความสำเร็จที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนการพัฒนาพระราชวังจันทน์ พลิกฟื้นดินแดนประวัติศาสตร์สำคัญในอดีต ให้กลับมารุ่งเรืองอีกครั้ง ในรูปแบบของการศึกษา ท่องเที่ยว ชื่นชม ให้ชาวจังหวัดพิษณุโลกได้ภาคภูมิใจในถิ่นกำเนิด คนไทยได้ร่วมรำลึกเหตุการณ์สำคัญ และชาวต่างชาติตื่นตาตื่นใจ ทึ่งในคุณค่าประวัติศาสตร์ชาติไทย




 พรปวีณ์ ทองด้วง  นักประชาสัมพันธ์
สถานอารยธรรมศึกษา โขง-สาละวิน มหาวิทยาลัยนเรศวร

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น