หน้าเว็บ

วันอังคารที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2556

THE CROSS PROJECT Lecture’s Exhibition”

THE CROSS PROJECT Lecture’s Exhibition” ศิลปะฝีมือคณาจารย์ จากการสร้างสรรค์ วิจัย เพื่อการศึกษา ประยุกต์ใช้ในชีวิตจริง “ในเมื่อเราเป็นอาจารย์ และแต่ละท่านล้วนมีความสามารถเฉพาะตัวในแต่ละด้าน จึงรวมตัวกันจัดแสดงผลงาน เพื่อแสดงศักยภาพของตัวเอง ทั้งกระบวนการ พัฒนาการ การคิดค้น การผลิตผลงาน ควบคู่ไปกับการสอน ไม่เพียงด้านงานสร้างสรรค์เท่านั้น ยังมีรูปแบบของงานวิจัยอีกด้วย”
ความเป็นมาของ “THE CROSS PROJECT Lecture’s Exhibition” จากคำบอกเล่าของผศ.ดร.ศุภรัก สุวรรณวัจน์ หัวหน้าภาควิชาศิลปะและการออกแบบ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ซึ่งจัดแสดงอยู่ ณ หอศิลป์ฯ อาคารวิสุทธิกษัตริย์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ตลอดเดือนกันยายน ๒๕๕๖ ด้วยลักษณะผลงานอันแตกต่าง หลากหลาย ชิ้นงานของอาจารย์แต่ละท่านจึงสามารถบ่งบอกแนวทางในการเรียนการสอน เป็นประโยชน์แก่ผู้สนใจศึกษาทางด้านศิลปะ เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ในระดับภูมิภาค ระดับชาติ และก้าวสู่ระดับนานาชาติต่อไป อาจารย์อาคม ทองโปร่ง หัวหน้าสาขาออกแบบทัศนศิลป์ กล่าวว่า “ผลงานของสาขาออกแบบทัศนศิลป์มีทั้งจิตรกรรม ประติมากรรม และสื่อผสม ยกตัวอย่างผลงานของผมเองชื่อ Drifting Nights 2013 กับคอนเซ็ปต์ หลับ ฝัน ตื่น ใช้วัสดุหลายชนิดผสมกัน เช่น เซรามิค ไม้ พลาสติกทอย แรงบันดาลใจมาจากความฝัน ตอนนั้นผมกำลังจะได้ลูกสาว ฝันเห็นแมวสีขาว สวยมาก ยืนอยู่บนหลังคา จึงสร้างผลงานออกมาเป็นรูปหัวคนนอนอยู่ มีสมองเปิดออกมา และมีแมวยืนอยู่ด้านบน เป็นจินตนาการจากมโนภาพของตัวเองคลุกเคล้ากับความจริง”
อาจารย์พัชรวัฒน์ สุริยงค์ หัวหน้าสาขาออกแบบผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ “เป็นการออกแบบที่เกิดจากงานวิจัย โดยได้รับงบประมาณจากมหาวิทยาลัยนเรศวรและหน่วยงานภายนอก เริ่มจากการสร้างแนวคิดในการออกแบบ บรรจุภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เพื่อตอบสนองโจทย์ของผู้ประกอบการและผู้บริโภค เช่น ผลงานกล่องใส่ไวน์ของผศ.ดร.ศุภรัก สุวรรณวัจน์ หัวหน้าภาควิชาศิลปะและการออกแบบ ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากเรือนแพริมแม่น้ำน่าน นอกจากนี้ยังมีการออกแบบจากการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับของใช้ เช่น ชุดเครื่องใช้บนโต๊ะอาหารจากรูปแบบศิลปะบนเครื่องเคลือบดินเผาสุโขทัย, เกณฑ์มาตรฐานในการออกแบบห้องน้ำสาธารณะ สำหรับผู้พิการด้านการเดินภายใต้แนวคิดการออกแบบเพื่อมวลชน, การศึกษาผลการออกแบบบรรจุภัณฑ์สร้างสรรค์เชิงนิเวศเศรษฐกิจ ผ่านบทเรียนบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต สำหรับนักศึกษาระดับปริญญาตรี ซึ่งนำมาใช้จริงกับนิสิตที่สอนอยู่ แล้วมีการประเมินผล” “สำหรับผลงานของตัวเองเป็นบรรจุภัณฑ์แบบ Gift Set ประกอบด้วยน้ำหวานกล้วย กล้วยตากอบ กล้วยตากเคลือบ Chocolate และกล้วยม้วน โดยรับโจทย์มาจากผู้ประกอบการ แล้วนำมาตีความหมาย ตั้งเป้าหมาย โดยใช้ความรู้ทางด้านองค์ประกอบของการออกแบบที่ร่ำเรียนมา”
อาจารย์ลินดา อินทราลักษณ์ หัวหน้าสาขาออกแบบสื่อนวัตกรรม “ผลงาน PixelateME มีแนวความคิดต้องการให้ผู้ชมได้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างโลกแห่งความเป็นจริงและโลกดิจิตอล เมื่อได้ทดลองเล่น application อยู่หน้ากล้อง จะมีคนอีกคนหนึ่งเพิ่มขึ้นมา นี่คือความสามารถของดิจิตอล ซึ่งตัดขาดจากโลกความเป็นจริง เป็นจุดมุ่งหมายของผลงาน นอกจากนี้ยังมีผลงานภาพถ่าย Black & White Photograph, Computer Graphic, เกม Melodies การเรียนรู้ของเสียงที่สอดใส่เกม การยิง เพื่อเพิ่มความสนุกให้กับผู้เรียนรู้, Compositing 3D Modeling ซึ่งแต่ละผลงานไม่ได้ใช้เพียงทักษะด้านคอมพิวเตอร์และซอฟต์แวร์เท่านั้น จะต้องผ่านการทดลองครั้งแล้วครั้งเล่า เพื่อให้ได้ตรงตามเป้าหมาย” “THE CROSS PROJECT Lecture’s Exhibition” จึงเป็นการผสมผสานเหตุการณ์ เรื่องราว สิ่งที่อยู่รอบตัว จินตนาการ อารมณ์ ความรู้สึกนึกคิด ที่ให้ความจรรโลงใจ การศึกษาเรียนรู้ ทั้งยังสามารถนำไปใช้งานได้จริง หรือปรับประยุกต์ใช้ สู่การต่อยอดก่อเกิดการพัฒนา สร้างสรรค์ อันมีคุณค่าต่อไปได้อย่างไม่รู้จบ พรปวีณ์ ทองด้วง นักประชาสัมพันธ์ สถานอารยธรรมศึกษา โขง-สาละวิน มหาวิทยาลัยนเรศวร

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น