วันศุกร์ที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2556
มหาวิทยาลัยนเรศวร ขอเชิญชมนิทรรศการ “ ไททรงดำ ”
ขอเชิญสัมผัสวัฒนธรรมอันแตกต่างของหนึ่งกลุ่มชาติพันธุ์
ในนิทรรศการ “ไททรงดำ”
ดร.วศิน ปัญญาวุธตระกูล ผู้อำนวยการสถานอารยธรรมศึกษา โขง-สาละวิน มหาวิทยาลัยนเรศวร ขอเชิญชมนิทรรศการ “ไททรงดำ” สัมผัสเอกลักษณ์เสื้อผ้าเครื่องแต่งกายสีดำ พร้อมข้าวของเครื่องใช้ และหลากหลายพิธีกรรมความเชื่อของกลุ่มชนไททรงดำหรือไทดำ ลาวซ่งดำ ลาวโซ่ง กลุ่มชนที่อพยพจากเวียดนามเข้าสู่ประเทศไทย ตั้งแต่สมัย กรุงธนบุรีจนถึงรัชกาลที่ ๓ มาอาศัยอยู่ตามจังหวัดต่าง ๆ เช่น พิษณุโลก, พิจิตร, สุพรรณบุรี, เพชรบุรี, ราชบุรี, ลพบุรี, นครปฐม, เลย เป็นต้น
ร่วมศึกษาวัฒนธรรมผ่านเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย เช่น เสื้อฮี, เสื้อก้อม, เสื้อไท, ผ้าซิ่นลายแตงโม, กางเกงขาสั้น, ผ้าเปียว (ผ้าสไบหรือผ้าเบี่ยง), หมวก รวมไปถึงข้าวของเครื่องใช้ เช่น กระเป๋า, ย่าม, ที่นอน, หมอน, มุ้ง และภาชนะสารพัดชนิด เช่น กระแอบ, ขมุก, ปานเผือน, ปานเสน, ข้าไก่ไค่, ตะข้องอีเบ็ด, โฮ่, กะเหลบ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีพิธีกรรมที่สืบทอดกันมา เช่น งานเสนเรือนหรืองานเลี้ยงผี ได้แก่ ผีบ้าน ผีเรือน ผีป่า ผีบรรพบุรุษ โดยจะต้องมีการเซ่นสรวงบูชาอยู่ตลอดเวลา และจะมีพิธีใหญ่ที่เรียกว่าเสนเรือน ๒-๕ ปีต่อครั้ง เพื่อให้ผีปกปักรักษาคนในครอบครัว
นิทรรศการ “ไททรงดำ” เปิดให้ผู้สนใจได้ศึกษา ชื่นชม ทุกวันจันทร์ – วันเสาร์ เวลา ๐๘.๓๐ – ๑๖.๓๐ น. ณ พิพิธภัณฑ์ผ้า อาคารอเนกประสงค์ มหาวิทยาลัยนเรศวร
สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่งานพิพิธภัณฑ์ สถานอารยธรรมศึกษา โขง-สาละวิน มหาวิทยาลัยนเรศวร โทรศัพท์ ๐ ๕๕๙๖ ๑๒๑๘
นิทรรศการ “ไททรงดำ”
กับเอกลักษณ์การนุ่งห่มด้วยสีดำ และวัฒนธรรมการนับถือผี
เสื้อผ้า เครื่องแต่งกายนับเป็นหนึ่งปัจจัยสะท้อนวัฒนธรรมของกลุ่มชน
แต่ละชาติพันธุ์จึงมีเอกลักษณ์การแต่งกายที่แตกต่าง ดังเช่น กลุ่มไททรงดำ ซึ่งทางสถานอารยธรรมศึกษา โขง-สาละวิน มหาวิทยาลัยนเรศวรได้นำเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย ตลอดจนข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ มาจัดแสดงอยู่ในนิทรรศการ “ไททรงดำ” ณ พิพิธภัณฑ์ผ้า มหาวิทยาลัยนเรศวร
มาทำความรู้จักชาวไททรงดำกันก่อน บางคนอาจจะเรียกว่า ไทดำ ลาวซ่งดำ หรือลาวโซ่ง ที่เรียกเช่นนี้ก็เพราะว่าคนไททรงดำนิยมนุ่งห่มด้วยเสื้อผ้าสีดำเป็นเอกลักษณ์ ส่วนคำว่าซ่งหรือส้วงแปลว่ากางเกง จึงมีการเรียกคนเหล่านี้ตามเครื่องนุ่งห่มนั่นเอง ในประเทศไทยมีชาวไททรงดำอาศัยอยู่ตามจังหวัดต่าง ๆ เช่น พิษณุโลก, พิจิตร, สุพรรณบุรี, เพชรบุรี, ราชบุรี, ลพบุรี, นครปฐม, เลย เป็นต้น โดยบรรพบุรุษไททรงดำอพยพมาจากเมืองแถนหรือเดียนเบียนฟู ประเทศเวียดนามตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรีจนถึงรัชกาลที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เนื่องจากถูกกวาดต้อนมาจากสงครามพร้อมกับชาวลาวเวียงจันทน์
สำหรับจังหวัดพิษณุโลกมีลูกหลานไททรงดำอาศัยอยู่ที่อำเภอบางระกำ ตามหมู่บ้านต่าง ๆ เช่น บ้านหนองขานาง, บ้านบึงคัด, บ้านคลองวัดไร่, บ้านแหลมมะค่า, บ้านหนองตาเขียว, บ้านคุยม่วง, บ้านวังอิทก, บ้านพันเสา เป็นต้น โดยย้อนไปเมื่อ ๑๐ กว่าปีก่อน (นับจากปี พ.ศ. ๒๕๔๖) ชาวไททรงดำที่นี่ยังคงนุ่งห่มด้วยผ้าสีดำเป็นประจำทุกวัน โดยจะปลูกฝ้าย ปั่นฝ้าย ย้อมสีคราม ทำเองทุกอย่าง แต่ปัจจุบันจะนุ่งห่มเฉพาะงานสำคัญ เช่น ปีใหม่, สงกรานต์, งานแต่งงาน, งานศพ, งานเสนเรือนหรืองานเลี้ยงผี เป็นต้น คำว่าผีในที่นี้หมายถึง ผีบ้าน ผีเรือน ผีป่า ผีบรรพบุรุษ ซึ่งชาวไททรงดำจะจัดอาณาเขตของผีเหล่านี้ไว้บนบ้าน เป็นบริเวณหวงห้ามที่บุคคลภายนอกครอบครัวจะเข้าไปยุ่งเกี่ยวไม่ได้ โดยจะต้องมีการเซ่นสรวงบูชาอยู่ตลอดเวลา และจะมีพิธีใหญ่ที่เรียกว่าเสนเรือน ๒-๕ ปีต่อครั้ง เพื่อให้ผีปกปักรักษาคนในครอบครัว คนไททรงดำเชื่อว่าถ้าหากมีการผิดผี เช่น ไม่ทำพิธีเสนเรือน หรือมีบุคคลภายนอกเข้ามาเป็นคนในครอบครัวโดยไม่มีการบอกกล่าว ก็จะมีเหตุเภทภัยให้เจียนตายทุกครั้งไป (ข้อมูลจากการลงพื้นที่ ณ หมู่บ้านหนองขานาง ตำบลคุยม่วง อำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก วันที่ ๒๐ พฤศจิกายน ๒๕๔๖)
แม้ว่าปัจจุบันชาวไททรงดำไม่ได้สวมใส่เสื้อผ้าสีดำทุกวันเช่นในอดีต แต่ทุกคนยังต้องมีเสื้อฮีประจำตัวเพราะเป็นเสื้อที่ต้องสวมใส่เวลาที่มีพิธีกรรม เช่น งานแต่งงาน งานเสนเรือน และที่สำคัญที่สุดในวันตาย จะต้องใส่เสื้อฮีของตัวเองไปด้วย เพราะมีความเชื่อที่สืบต่อกันมาว่า ถ้าใส่เสื้อฮีไปจะได้พบญาติ พ่อ แม่ พี่ น้อง ที่ตายไปแล้ว จะจำกันได้ว่าเป็นเผ่าพันธุ์เดียวกัน โดยในการสวมใส่เสื้อฮีนั้น จะนำด้านในซึ่งมีลวดลายสวยงามออกด้านนอก ด้วยเป็นความเชื่อที่ว่า พ่อแม่เห็นลายเสื้อผ้าก็จำได้ นอกจากนี้ยังมีเสื้อฮีอีก ๒ – ๓ ตัว ที่กลับด้านของเสื้อเอาด้านในออกคลุมโลงศพไว้ ในขณะตั้งศพตามประเพณีอีกด้วย
ผ้าที่น่าสนใจอีกชนิดหนึ่งของไททรงดำคือ ผ้าซิ่นลายแตงโมหรือลายชะโด ที่มีการทอแบบเฉพาะคือ ใช้เส้นยืนสีแดงเป็นหลัก ส่วนเส้นพุ่งเป็นสีดำหรือครามเข้มเกือบดำ ที่เป็นเช่นนี้เพราะมีตำนานเล่าสืบกันต่อมาว่า
ธรรมเนียมตั้งแต่โบราณกาล ผู้ชายที่เป็นสามีเป็นผู้นำครอบครัวมีหน้าที่ออกจากบ้านไปเข้าป่าหักร้างถางพง เป็นแหล่งทำมาหากิน ทำไร่ไถนาหาเผือกหามัน ปล่อยให้ภรรยาอยู่กับเหย้าเฝ้ากับเรือน จนกว่าสามีจะกลับบ้าน สาวเจ้านั่งทอผ้าไปใจก็ประหวัดนึกถึงสามีที่เข้าป่าหลายวัน อันความรักความคิดถึงย่อมมีอยู่ในตัวของทุกคน มันวิ่งแล่นอยู่ทุกลมหายใจ ยิ่งกว่ากระสวยที่พุ่งผ่านเป็นเส้นขัดให้เป็นผืนผ้าในกี่ทอผ้าที่กำลังทออยู่ สาวเจ้าจึงใช้สีแดงย้อมเส้นยืน ซึ่งเป็นสีแทนหัวใจที่โหยหาอาวรณ์คนรักที่จากกัน ส่วนเส้นพุ่งใช้สีครามเข้มเกือบดำแทนตัวเอง ใช้ทอทับเป็นเส้นขัดให้เกิดเป็นเนื้อผ้า โดยซ่อนเส้นสีแดงเอาไว้ เมื่อเวลานุ่งผ้าซิ่นลายแตงโมคอยสามี ผ้าซิ่นก็จะต้องแสงแดดแวววับของเหลือบสีแดงออกมา เสมือนหนึ่งเป็นสัญญาณแห่งความรักที่มีต่อกัน แม้จะเห็นเพียงราง ๆ ก็ตาม ที่เป็นเช่นนี้ก็เพื่อปกปิดความอายที่เป็นคุณสมบัติของหญิงสาวไททรงดำโดยแท้
ทั้งนี้โดยหลักการของการทอผ้าทั่ว ๆ ไป เส้นยืนจะมีขนาดเล็กกว่าเส้นพุ่ง การทอผ้าแบบไททรงดำจึงสามารถซ่อนสีแดงของเส้นยืนเอาไว้อย่างมิดชิด แต่ไม่สามารถจะซ่อนอณูของสีที่เหลือบเอาไว้ เมื่อเวลาต้องแสงแดดจะมีสีของเส้นยืนสะท้อนออกมาให้เห็น นี่แหละภูมิปัญญาของพื้นบ้าน
ปัจจุบันเสื้อฮีและผ้าซิ่นลายแตงโมยังคงเป็นเครื่องแต่งกายสำคัญของชาวไททรงดำ สำหรับคนทั่วไปอาจหาดูได้ยาก แต่ตอนนี้ทุกคนสามารถชื่นชมเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายและศึกษาวัฒนธรรมของชาวไททรงดำได้ในนิทรรศการ “ไททรงดำ” ทั้งเสื้อฮี, เสื้อก้อม, เสื้อไท, ผ้าซิ่นลายแตงโม, กางเกงขาสั้น, ผ้าเปียว (ผ้าสไบหรือผ้าเบี่ยง), หมวก รวมไปถึงข้าวของเครื่องใช้ เช่น กระเป๋า, ย่าม, ที่นอน, หมอน, มุ้ง และภาชนะสารพัดชนิด เช่น กระแอบ, ขมุก, ปานเผือน, ปานเสน, ข้าไก่ไค่, ตะข้องอีเบ็ด, โฮ่, กะเหลบ เป็นต้น
นิทรรศการไททรงดำจัดแสดงในรูปแบบถาวรอยู่ ณ พิพิธภัณฑ์ผ้า มหาวิทยาลัยนเรศวร สะท้อนภูมิปัญญาของกลุ่มชนที่เป็นแบบอย่างของมรดกทางวัฒนธรรม
พรปวีณ์ ทองด้วง นักประชาสัมพันธ์ สถานอารยธรรมศึกษา โขง-สาละวิน มหาวิทยาลัยนเรศวร
ข้อมูล : ผ้าทอพื้นเมืองในภาคกลาง โครงการพัฒนาผ้าพื้นเมืองในทุกจังหวัดของประเทศ มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๔๓
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น