หน้าเว็บ

วันพุธที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

สถานอารยธรรมศึกษา โขง-สาละวิน ม.นเศวร จัด นิทรรศการ “ ช่างสิบหมู่ ”

นิทรรศการ “ช่างสิบหมู่” องค์ความรู้จากการศึกษาวิจัย เพื่อการสืบสานศิลปหัตถกรรมท้องถิ่น
“นับแต่ได้ตามเสด็จเยี่ยมราษฎรทั่วประเทศ ข้าพเจ้าค้นพบด้วยความภาคภูมิใจว่า คนไทยของเรานี่เป็นผู้ที่มีความสามารถ เพียงแต่ได้โอกาสก็จะสร้างสรรค์ผลงานอันเยี่ยมยอดออกมาได้เสมอ” พระราชดำรัสของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เมื่อวันที่ ๑๑ สิงหาคม ๒๕๓๔ สะท้อนฝีมือด้านศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านของคนไทยที่มีมาช้านาน หวังให้ลูกหลานเห็นคุณค่า สืบสานภูมิปัญญาดั้งเดิม
สถานอารยธรรมศึกษา โขง-สาละวิน มหาวิทยาลัยนเรศวร จัดโครงการสืบค้นข้อมูลและพัฒนาฐานข้อมูลช่างสิบหมู่ในเขตพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างขึ้น เพื่อรวบรวมองค์ความรู้เกี่ยวกับงานช่างสิบหมู่ อันจะนำไปสู่การสงวนรักษาและสืบทอดภูมิปัญญาของท้องถิ่น ตลอดจนพัฒนาเตรียมความพร้อมในการเป็นศูนย์การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของแต่ละชุมชน ควบคู่ไปกับการสร้างคุณค่าทางเศรษฐกิจ สังคมและเอกลักษณ์ของชุมชน โดยเป็นการลงพื้นที่ศึกษาวิจัยใน ๙ จังหวัดภาคเหนือตอนล่าง กำแพงเพชร ตาก นครสวรรค์ พิจิตร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ สุโขทัย อุตรดิตถ์ และอุทัยธานี มีรองศาสตราจารย์ ดร.จิรวัฒน์ พิระสันต์ เป็นหัวหน้าโครงการ พร้อมด้วยคณะผู้วิจัย ได้แก่ รองศาสตราจารย์ ดร.นิรัช สุดสังข์ อาจารย์สุรชาติ เกษประสิทธิ์ และอาจารย์สมหมาย มาอ่อน จากภาควิชาศิลปะและการออกแบบ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร
จากการลงพื้นที่วิจัยพบว่า ในแต่ละท้องถิ่นต่างมีศิลปกรรมอันแตกต่าง บ้างเป็นภูมิปัญญาดั้งเดิม บางอย่างมาจากการเรียนรู้ แลกเปลี่ยนกับภูมิภาคอื่น หรือเป็นคนภูมิภาคอื่นมาทำมาหากินอยู่ในพื้นที่ อย่างเช่นที่ตำบลน้ำพี้ อำเภอทองแสนขัน จังหวัดอุตรดิตถ์ อาจารย์สุรชาติ เกษประสิทธิ์ เล่าว่า “ที่นี่มีภูเขาอยู่มาก และบนภูเขาก็มีดินลูกรังหรือลูกกรวดที่มีส่วนผสมของแร่เหล็กเนื้อดี จึงทำให้เกิดอาชีพหนึ่งมาตั้งแต่สมัยอยุธยา นั่นคือ การตีดาบ (มีด) เหล็กน้ำพี้ โดยการถลุงแร่เหล็กจากภูเขา นำมาหลอมเพื่อคัดแยกแร่เหล็กออกมา จากนั้นใช้ความร้อนหลอมและตีให้กลายเป็นอาวุธ มีด ตลอดจนเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน”
ความสำคัญของเหล็กน้ำพี้ในอดีตคือ การทำอาวุธสำหรับพระมหากษัตริย์ แม่ทัพนายกองมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา และมีการสืบทอดเรื่อยมา จากอาวุธ มีด เครื่องใช้ ปัจจุบันเป็นของที่ระลึก เป็น สัญลักษณ์แห่งภูมิปัญญาท้องถิ่น อันเปี่ยมด้วยมูลค่าและคุณค่า นิทรรศการ “ช่างสิบหมู่” ณ ชั้น ๒ อาคารวิสุทธิกษัตริย์ มหาวิทยาลัยนเรศวร จัดแสดงเรื่องราวของดาบน้ำพี้ รวมถึงงานศิลปหัตถกรรมของทั้ง ๙ จังหวัดภาคเหนือตอนล่าง เช่น ผลิตภัณฑ์หินอ่อน จังหวัดกำแพงเพชร, โรงหล่อพระบูรณะไทยจ่าทวี จังหวัดพิษณุโลก, การแกะลายกระดาษทำลายบั้งไฟร่วมสมัย จังหวัดเพชรบูรณ์, หัวโขนและเครื่องสวมครอบศีรษะ จังหวัดนครสวรรค์, ดอกไม้และตุ๊กตาประดิษฐ์ จังหวัดอุตรดิตถ์, ผลิตภัณฑ์กลึงไม้มะม่วงลานสัก จังหวัดอุทัยธานี, การแกะสลักหินแกรนิต จังหวัดตาก, เครื่องเบญจรงค์ จังหวัดพิจิตร เป็นต้น เพื่อเป็นคลัง เป็นต้นทุนทางศิลปวัฒนธรรม ให้ผู้สนใจได้ศึกษา ชื่นชม และอาจเป็นแรงบันดาลใจให้ก่อเกิดงานศิลปะรูปแบบใหม่ต่อไป เพราะงานฝีมือคือจิตวิญญาณของคนไทย
พรปวีณ์ ทองด้วง นักประชาสัมพันธ์ สถานอารยธรรมศึกษา โขง-สาละวิน มหาวิทยาลัยนเศวร

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น