หน้าเว็บ

วันศุกร์ที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2556

“อายตนะ” ความงดงามบนร่องรอยแห่งวิกฤติชีวิตกับความตาย

“อายตนะ” ความงดงามบนร่องรอยแห่งวิกฤติชีวิตกับความตาย โดยไชยพันธุ์ ธนากรวัจน์ ความเจ็บปวด ผิดหวัง สูญเสีย อาจทำให้บางคนจมอยู่กับความทุกข์ ปล่อยให้ความทุกข์กัดกร่อนชีวิตและจิตใจ แต่สำหรับผู้ชายที่ชื่อ ไชยพันธุ์ ธนากรวัจน์ กลับนำสิ่งเหล่านี้มาเป็นพลังสร้างสรรค์ ก่อเกิดเป็นผลงานศิลปะสะท้อนอารมณ์ ความรู้สึกในช่วงวิกฤติของชีวิต ต่อเติมกำลังใจให้ตัวเอง และยังเป็นประโยชน์แก่ผู้อื่นอีกด้วย
“วิกฤติครั้งหนึ่งของชีวิต ผมประสบอุบัติเหตุขณะจอดรถจักรยานยนต์รอสัญญาณไฟกลางสี่แยกในกรุงเทพฯ ทำให้ขาหัก และต้องผ่าตัดขั้วหัวใจ พักรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลเป็นเวลาเดือนกว่า จากปกติเป็นคนไม่อยู่นิ่ง ชอบคิด ชอบสร้างสรรค์ วาดภาพ เขียนบทกวี และสอนหนังสือที่มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม กลับต้องมาอยู่ในพื้นที่จำกัด กับกิจวัตรประจำวันที่วนเวียนอยู่กับการกินยา กินข้าว อาบน้ำ ฟังธรรมะ สวดมนต์ ไหว้พระ จึงรวบรวมสติและพลังใจในการเขียนบทกวีและร่างภาพลายเส้นไว้” ในขณะที่ตัวเองประสบวิกฤติอยู่กับความเป็นความตาย ยังมีเคราะห์ซ้ำกรรมซัด เมื่อได้รับข่าวร้ายว่า พ่อที่เดินทางจากปักษ์ใต้มาเยี่ยมเขาเมื่อ ๒ วันก่อนเสียชีวิตลง นับเป็นการพลัดพรากอันสุดแสนรวดร้าว เพราะอาจารย์ไชยพันธุ์ได้พบหน้าพ่อครั้งสุดท้ายที่ปลายเตียง ไม่สามารถแม้แต่จะประคองร่างของตัวเองไปอำลาพ่อเป็นครั้งสุดท้ายของชีวิต
“เมื่อกลับมารักษาตัวที่บ้าน รู้สึกอึดอัด ว้าวุ่น ขาดการสอน เห็นภาพที่ตัวเองยังวาดไม่เสร็จ จึงคิดได้ว่าไม่มีประโยชน์อะไรเลยที่จะจมอยู่กับความหม่นหมองมืดมัว จึงให้ภรรยาจัดเตรียมสีและเฟรม นำภาพที่ตัวเองร่างไว้มาขยาย ส่วนวรรณกรรมที่เขียนบนเตียงก็นำมาใส่ทำนองเป็นอัลบั้มทั้งหมด ๑๐ เพลง ไม่ได้คิดเรื่องผลประโยชน์ เพียงต้องการให้รอดพ้นจากวิกฤติโดยไม่อยากฟุ้งซ่าน ตึงเครียด” “อุบัติเหตุทำให้ผมได้อยู่กับตัวเอง ได้ฟังธรรมะ อ่านหนังสือธรรมะ ซึ่งก่อนหน้านี้ไม่เคยคิด ไม่เคยอยู่ในโลกของธรรมะมาก่อน จึงตีค่าความหมายของอายตะออกมาเป็นผลงานศิลปะ” อายตนะ คือชื่อชุดผลงานศิลปะและบทเพลงที่เกิดจากกระบวนการถ่ายโยงความรู้สึกทางสุนทรียจากสภาวะจิตภายในสู่ภายนอก โดยการสัญจรจัดแสดงผลงาน ณ หอศิลป์ของสถาบันการศึกษาต่าง ๆ เริ่มจากหอศิลป์มหาวิทยาลัยนเรศวร จังหวัดพิษณุโลก ตั้งแต่วันที่ ๒๓ พฤศจิกายน – ๓๐ ธันวาคม ๒๕๕๖ ผลงานจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ จำนวน ๙๘ ชิ้น ในชุดสบตากับนิพพาน, ปฐมบทแห่งนิพพาน, บทสนทนาความเศร้า, ก้าวข้ามความเศร้า, มหากาพย์แห่งวาระกรรม, ลมหายใจของฤดูกาล, เงาแห่งตัวตน, พิพิธภัณฑ์ชีวิต, วิญญาณแห่งฝัน, เรือชีวิต, ห้วงพันธนาการแห่งอารมณ์, สายใยแห่งรัก, อัตตาแห่งมายา, หน้าต่างชีวิต ล้วนเป็นผลงานที่สร้างสรรค์ กลั่นกรองจากวิกฤติที่เกิดขึ้นจากประสบการณ์ตรง เป็นแรงบันดาลใจจากชีวิตกับความตาย ในรูปแบบของจุด เส้น สี ที่ทับซ้อนกันหล่อหลอมเป็นสัญลักษณ์ต่าง ๆ เช่น ดวงตาแทนความอิจฉาริษยาที่มีให้เห็นทั่วไปในสังคม ไม้ค้ำแทนความเกื้อกูลที่เราได้รับจากญาติพี่น้อง มิตรสหาย เส้นหัวใจแทนหล่อเลือดเลี้ยงชีวิต ดอกบัวแทนความศรัทธา เป็นต้น
“ไม่ได้คาดหวังที่จะเป็นศิลปินที่มีชื่อเสียง เพียงแต่ได้ถ่ายทอดสิ่งที่มากระทบเร้า มีความสุขที่ได้เผยแพร่กระบวนการของแนวคิด กระบวนการถ่ายทอดทางรูปแบบและเทคนิค เป็นธรรมะ เป็นความจริง เป็นสภาวะที่ทุกคนที่ต้องพบเจอ ต้องเห็น ต้องเป็น” ไชยพันธุ์ ธนากรวัจน์ จึงนับเป็นแบบอย่างของคนศิลปะ ในการสร้างสรรค์ผลงานได้อย่างสุดบรรเจิด แม้กระทั่งในช่วงภาวะตกต่ำสุดขีด และยังเป็นบุคคลตัวอย่างในการใช้ชีวิต ด้วยการสร้างคุณค่า ความงดงาม ท่ามกลางวิกฤติได้อย่างศิวิไลซ์ ดังคำให้สัมภาษณ์ของศาสตราจารย์เดชา วราชุน ศิลปินแห่งชาติ “เมื่อเขาเจออุบัติเหตุที่ทำให้เขามีปัญหากับร่างกาย เกิดสภาวะกดดันจากการผ่าตัด ความเจ็บปวด จิตที่เข้า ๆ ออก ๆ ระหว่างร่างกายและจิตใจ ก่อเกิดเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ เป็นผลงานที่ได้ชื่อว่าดีที่สุดในชีวิตที่ผ่านมาของเขา เพราะเป็นการดึงความจริงที่อยู่ข้างในออกมาผ่านสี ผ่านเทคนิค ผ่านกระบวนการในการสร้างสรรค์ ทำให้จิตใจของเขามีความสุขและความหวัง” จะมีสักกี่คนที่สามารถฉุดดึงตัวเองขึ้นจากเหวลึกได้ด้วยมือเปล่า นิทรรศการศิลปกรรมชุด “อายตนะ” โดยไชยพันธุ์ ธนากรวัจน์ ๒๓ พฤศจิกายน – ๓๐ ธันวาคม ๒๕๕๖ ณ หอศิลป์มหาวิทยาลัยนเรศวร จังหวัดพิษณุโลก ๔ – ๓๐ เมษายน ๒๕๕๗ ณ หอศิลป์เซเว่นรังสรรค์ ถนนสาทร กรุงเทพมหานคร ๖ – ๓๐ มิถุนายน ๒๕๕๖ ณ หอศิลป์รัตนมุนี (ม่วง) วิทยาลัยศิลปหัตถกรรมนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช ๓ กรกฎาคม – ๑๕ สิงหาคม ๒๕๕๗ ณ หอศิลป์วัฒนธรรมภาคใต้ สถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี จังหวัดปัตตานี พรปวีณ์ ทองด้วง นักประชาสัมพันธ์ สถานอารยธรรมศึกษา โขง-สาละวิน มหาวิทยาลัยนเรศวร

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น