หน้าเว็บ

วันจันทร์ที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

เลขาธิการ สคบ.ลงพื้นที่สุ่มตรวจอาหารทะเล ที่ตลาดสดมหาชัย



สคบ. ลงพื้นที่สุ่มตรวจอาหารทะเล ที่ตลาดสดมหาชัย และตลาดทะเลไทย พร้อมแนะผู้บริโภคให้สอบถามแหล่งที่มาจากผู้ขายก่อนซื้อสินค้า 


เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ลงพื้นที่สุ่มตรวจอาหารทะเล ที่ตลาดสดมหาชัย และตลาดทะเลไทย จังหวัดสมุทรสาคร พร้อมแนะผู้บริโภคให้สอบถามแหล่งที่มาจากผู้ขาย ก่อนเลือกซื้อสินค้า




นายอำพล วงศ์ศิริ เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค หรือ สคบ. พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และ บริษัท ห้องปฏิบัติการกลาง (ประเทศไทย) จำกัด ลงพื้นที่ตลาดสดมหาชัย และตลาดทะเลไทย จังหวัดสมุทรสาคร เพื่อสุ่มตรวจสารปนเปื้อนในอาหารทะเล โดยเจ้าหน้าที่ได้ขอความร่วมมือร้านค้าเก็บตัวอย่างอาหารทะเล ประเภท กุ้ง ปลาหมึก หอย ปู และปลา ไปอย่างละ 3 ตัวอย่าง

เลขาธิการ สคบ. กล่าวว่า การสุ่มตรวจอาหารทะเลในครั้งนี้เป็นการทำงานเชิงรุก ที่ สคบ. ต้องการป้องกันอันตรายที่จะเกิดขึ้นกับผู้บริโภค จากการรับประทานอาหารทะเลที่อาจปนเปื้อนสารเคมีอันตราย เช่น โลหะหนัก ปรอท ตะกั่ว แคดเมียม สารหนู และฟอร์มาลีน ซึ่งหากรับประทานเข้าไปในปริมาณมาก จะทำให้เกิดอาการปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ท้องร่วง เบื่ออาหาร หรือบางรายอาจส่งผลต่อระบบประสาท ระบบทางเดินหายใจ หรืออาจสะสมจนก่อให้เกิดโรคมะเร็ง หรืออาจรุนแรงถึงขั้นเป็นอัมพาตและเสียชีวิตได้ ทั้งนี้ หลังจากเก็บตัวอย่างไปแล้ว คาดว่าจะใช้เวลาในกระบวนการตรวจสอบประมาณ 2 - 3 วัน จึงจะทราบผล หากพบความผิดปกติ สคบ. จะเร่งหาต้นตอของสารปนเปื้อนทันที

เลขาธิการ สคบ. กล่าวด้วยว่า การตรวจสอบสารปนเปื้อนในอาหารทะเล ไม่สามารถทำได้โดยการมองด้วยตาเปล่าเท่านั้น ถึงแม้ว่าจะใช้วิธีสังเกตตามหลักการ เช่น ปลามีตาใส เหงือกแดง แต่อาจแช่สารฟอร์มาลีนได้ ดังนั้นการตรวจสอบที่ดีที่สุด คือ การนำไปตรวจสอบในห้องแล็ป อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคสามารถลดความเสี่ยงได้ในเบื้องต้น โดยการสอบถามถึงแหล่งที่มาของอาหารทะเลจากผู้ค้าขาย ซึ่งหากมาจากท้องทะเล เป็นไปได้สูงที่อาหารจะมีสารปนเปื้อนน้อยกว่าการเลี้ยง เพราะถ้าผู้เลี้ยงให้อาหารที่มีสารปนเปื้อน จะเกิดการสะสมในสัตว์ชนิดนั้นได้




สำหรับมาตรฐานอาหาร ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 273 พุทธศักราช 2546 กำหนดไว้ว่า ปริมาณสารหนู ต้องไม่เกิน 0.5 มิลลิกรัม ต่ออาหาร 1 กิโลกรัม ปริมาณแคดเมียมในกุ้ง ต้องไม่เกิน 0.5 มิลลิกรัม ต่ออาหาร 1 กิโลกรัม ส่วนหอย ต้องไม่เกิน 1 มิลลิกรัม ปริมาณตะกั่ว ต้องไม่เกิน 1 มิลลิกรัม ปริมาณปรอท ไม่เกิน 0.5 มิลลิกรัม ส่วนฟอร์มาลีนห้ามนำมาใช้กับอาหารโดยเด็ดขาด เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค ซึ่งหากฝ่าฝืนจะมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาหาร พุทธศักราช 2522 มาตรา 60 มีโทษปรับไม่เกิน 50,000 บาท


ลิขิต  รักอยู่  สมุทรสาครนิวส์  

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น