หน้าเว็บ

วันจันทร์ที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2556

ความสำเร็จของเวียดนาม …บทเรียนสะท้อนระบบคิดของไทย

ฉีกระบบคิด มุ่งเน้นการพัฒนาตัวตน บนพื้นฐานของกฎหมาย กลไกแห่งความสำเร็จของเวียดนาม …บทเรียนสะท้อนระบบคิดของไทย เวียดนามส่งออกข้าวเป็นอันดับ ๑ ของโลก คือความจริงอันแสนเจ็บปวดของประเทศไทย ยังไม่รวมถึงศักยภาพด้านอื่น ๆ ของเวียดนามที่นับวันจะเพิ่มพูน ทำให้คนไทยต้องตื่นจากความฝัน หันมายอมรับความจริง จำเป็นต้องเรียนรู้ระบบคิดของเวียดนาม ที่มีการปรับตัวและการเปลี่ยนแปลงภายใต้นโยบายและกฎหมายใหม่ ๆ ซึ่งทำให้เวียดนามเกิดการพัฒนาและประสบความสำเร็จ ด้วยเหตุนี้สถานอารยธรรมศึกษา โขง-สาละวิน และภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร จึงร่วมกับสถาบันภูพาน ประเทศไทย พร้อมทั้งมหาวิทยาลัยกฎหมายโฮจีมินห์ซิตี้ และสำนักข่าวสารสากล กระทรวงแถลงข่าวและวัฒนธรรม ประเทศเวียดนาม จัดโครงการบรรยายพิเศษ “การปฏิรูปกฎหมายเวียดนามสู่พยัคฆ์แห่งอาเซียน” ขึ้น เมื่อวันที่ ๑๙ มีนาคม ๒๕๕๖ ณ มหาวิทยาลัยนเรศวร เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ และวัฒนธรรมของประเทศเวียดนาม อันนำไปสู่ช่องทางและโอกาสด้านการค้า การลงทุน ตลอดจนด้านศิลปวัฒนธรรมระหว่างไทยและเวียดนาม “นี่เป็นครั้งแรกที่มีความร่วมมือกันในเชิงกฎหมาย ทั้งนี้ก็ด้วยเหตุผลง่าย ๆ ประการเดียวนั่นก็คือ เมื่อเราจะก้าวสู่การเป็นพลเมืองของอาเซียน เราต้องเรียนรู้ความเป็นอาเซียนในมิติของอาเซียน ไม่ใช่เรียนรู้อาเซียนในมิติไทย ๆ และเรื่องกฎหมายถือว่าเป็นเรื่องแรกที่ต้องเอามาพูดกัน และครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่นักวิชาการด้านกฎหมายของเวียดนามเดินทางออกนอกประเทศ ซึ่งทุกคนล้วนเป็นคณะกรรมการกลางแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญฉบับปี ๑๙๙๒” ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.อรรถ นันนทจักร ประธานที่ปรึกษาสถาบันภูพาน “ประเทศเวียดนามประสบความสำเร็จทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และต่างประเทศ จึงจำเป็นต้องมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยมีหลักการสำคัญคือ อำนาจของประชาชนถือว่าสำคัญที่สุด กฎหมายต้องคุ้มครองประชาชนในทุก ๆ ด้าน รวมถึงการกำหนดบทบาทของพรรคคอมมิวนิสต์ของเวียดนาม มีกฎหมายเศรษฐกิจ การตลาด เพื่อความเป็นนิติรัฐ คือ สร้างประเทศที่เป็นประชาธิปไตย เสมอภาค ยุติธรรม และอารยธรรม ตลอดจนกฎหมายด้านการต่างประเทศ การให้ความสำคัญกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศในกลุ่มอาเซียน และที่สำคัญอีกเรื่องหนึ่งคือ สิทธิมนุษยชนและสิทธิขั้นพื้นฐานของพลเมือง ซึ่งไม่ใช่สิทธิที่ทางรัฐบาลเป็นผู้ให้ แต่เป็นสิทธิที่ทางรัฐบาลจะต้องเป็นผู้คุ้มครอง” ศาสตราจารย์ ดร. มาย ฮ่วง กุ๋ย (Prof.Dr. Mai Hong Quy) อธิการบดีมหาวิทยาลัยกฎหมายโฮจีมินห์ซิตี้ การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้มีคณะกรรมการกว่า ๕๐ คน ทั้งนักกฎหมาย นักประวัติศาสตร์ นักสังคมศาสตร์ และประชาชนทุกคนมีส่วนร่วม โดยขณะนี้กำลังอยู่ในระหว่างการทำประชาพิจารณ์ เพื่อให้ประชาชนได้แสดงความคิดเห็น ไม่เฉพาะประชาชนที่อยู่ในประเทศเวียดนามเท่านั้น หมายรวมถึงคนเวียดนามในทุกประเทศทั่วโลก ทั้งนี้ในเดือนพฤศจิกายน ๒๕๕๖ จะมีการยกร่างรัฐธรรมนูญเสนอต่อรัฐสภา เป็นกฎหมายรัฐธรรมนูญฉบับปี ๒๐๑๓ ดร.เหงียน ถิ เฟือง ฮั่ว (Dr.Nguyen Thi Phuong Hoa) สมาชิกสมาคมกฎหมายศูนย์กลางแห่งเวียดนาม กล่าวเน้นถึงการให้ความสำคัญในด้านสิทธิมนุษยชนและสิทธิขั้นพื้นฐานของพลเมืองว่า “รัฐบาลต้องคุ้มครองสิทธิพลเมือง และไม่ใช่เฉพาะในประเทศเท่านั้น คนเวียดนามที่อยู่นอกประเทศก็ได้รับความคุ้มครองการเป็นพลเมืองด้วย นอกจากนั้นยังคุ้มครองสิทธิในด้านความเป็นอยู่ สิทธิในด้านการครอบครองทรัพย์สินของชาวต่างประเทศที่อยู่ในเวียดนาม โดยการร่างกฎหมายด้านสิทธิมนุษยชนนี้ มีการนำกฎหมายของต่างประเทศมาเปรียบเทียบ ประยุกต์ใช้ และขอความคิดเห็นจากประเทศอื่น ๆ บนพื้นฐานและประสบการณ์ของเวียดนามเอง” อีกหนึ่งประเด็นที่มีความสำคัญคือเรื่องของประชาธิปไตย กฎหมายรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะกำหนดไว้อย่างชัดเจนและครอบคลุมว่า อำนาจต่าง ๆ เป็นของประชาชน องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นดำเนินงานโดยประชาชนมอบอำนาจให้ กฎหมายต้องมีกลไกเพื่อให้ประชาชนปฏิบัติหน้าที่ได้โดยสมบูรณ์และสามารถตรวจสอบอำนาจของรัฐ สำหรับการเลือกตั้งนั้น รัฐสภาจะแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อดำเนินการ ควบคุมและตรวจสอบการเลือกตั้งในแต่ละครั้ง การค้า การลงทุนในประเทศเวียดนาม คืออีกหนึ่งเรื่องที่ได้รับความสนใจจากบรรดานักธุรกิจไทย ในเรื่องนี้ นายเหงียน ทาน ฮ่วน (Mr.Nguyen Tanh Hoan) ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักข่าวสากล ให้สัมภาษณ์ว่า “ที่ผ่านมาคนไทยเข้าไปลงทุนในประเทศเวียดนามเป็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่เป็นด้านอุปโภค บริโภค การประมง และการเกษตร ทั้งนี้กฎหมายที่นักลงทุนไทยจะต้องเข้าใจและศึกษาให้ดี อย่างแรกคือกฎหมายเกี่ยวกับค่าจ้างแรงงาน มีความสำคัญที่สุด นอกจากนี้ก็มีกฎหมายเกี่ยวกับใบอนุญาต กฎหมายที่ดิน และกฎหมายพื้นฐานอื่น ๆ ซึ่งคนไทยสามารถขอคำปรึกษาได้ที่กระทรวงพาณิชย์ ซึ่งจะมีกรมที่สนับสนุนนักลงทุนชาวต่างประเทศ รวมถึงสถานทูต สำหรับที่เมืองโฮจีมินซีตี้จะมีสมาคมของคนไทยอยู่ที่นี่ คอยให้การดูแลนักลงทุนชาวไทยด้วยกัน” นายเหงียน ฮ่วน กล่าวย้ำว่า คนไทยสามารถเดินทางไปทำการค้าที่ประเทศเวียดนามได้อย่างสะดวก เพราะคนเวียดนามเข้าใจคนไทย ยินดีต้อนรับคนไทย และที่สำคัญคนเวียดนามรู้ภาษาไทยเป็นอย่างดี นี่คือการตอกย้ำให้คนไทยรู้ว่า ถึงเวลาหรือยังสำหรับการทบทวนตัวเอง “เราเรียนรู้ตัวเองมากเกินไป จนไม่เปิดโอกาสในการเรียนรู้ประเทศเพื่อนบ้าน วันนี้เราได้เปิดมิติใหม่ ๆ ในการเรียนรู้ เวียดนามเปิดโอกาสให้เราได้เรียนรู้แล้ว เราต้องเปิดโอกาสให้เขาได้เรียนรู้เราด้วย ไม่ใช่เพียงแค่ภาษาหรือการแต่งกาย แต่การเรียนรู้จากกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ คือส่วนสำคัญที่จะทำให้เดินไปด้วยกัน อันจะเป็นกลไก เครื่องมือ และเชื่อมความเป็นประเทศร่วมกัน เพื่อมุ่งสู่ความเป็นอาเซียน” ดร.วศิน ปัญญาวุธตระกูล ผู้อำนวยการสถานอารยธรรมศึกษา โขง-สาละวิน มหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวในตอนท้ายของการบรรยาย ที่ผ่านมานโยบายโด่ยเหมยหรือนโยบายจินตนาการใหม่ รวมถึงนโยบายเศรษฐกิจสังคมนิยมอย่างตะวันออก ผนวกกับยุทธศาสตร์ทางการต่างประเทศที่เหมาะสม คือการปรับระบบคิดและกระบวนการพัฒนาที่ทำให้ประเทศเวียดนามก้าวสู่เวทีโลกได้อย่างสง่างาม ถึงตอนนี้เวียดนามยังเตรียมคลอดกฎหมายรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในช่วงปลายปี ๒๕๕๖ เพื่อนบ้านเราคิดและลงมือทำแล้ว ประเทศไทยจะเริ่มหันมามองความจริงได้หรือยัง พรปวีณ์ ทองด้วง นักประชาสัมพันธ์ สถานอารยธรรมศึกษา โขง-สาละวิน มหาวิทยาลัยนเรศวร

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น