หน้าเว็บ

วันจันทร์ที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2560

วช.ติดปีกนักวิจัย ให้เข้มแข็ง ปรับความคิดใหม่ มุ่งสู่ไทยแลนด์ 4.0



สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ติดปีกนักวิจัยให้เข้มแข็ง กระตุ้นให้ปรับความคิดและสร้างความรู้ใหม่ มุ่งสู่ไทยแลนด์ 4.0






ศาสตราจารย์กิตติคุณ นายแพทย์สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ให้สัมภาษณ์ภายหลังเปิดอบรมและบรรยายพิเศษ หัวข้อ ติดปีกความคิด ตีโจทย์สร้างงานวิจัย และแนวทางการจัดทำข้อเสนอการวิจัยให้ได้ใจแหล่งทุน ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ หรือ วช.จัดขึ้น ที่โรงแรมมารวยการ์เด้น วันนี้ (12 มิ.ย.60) ว่า การเปลี่ยนแปลงของโลกจำเป็นต้องสร้างความรู้โดยนักวิจัย แต่กระบวนการสร้างความรู้ของประเทศไทยที่ผ่านมายังเป็นลักษณะลองผิดลองถูก ดังงานวิจัยในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเมื่อช่วง 20 ปีผ่านมากว่า 100,000 เรื่อง พบว่าอยู่ในข่ายที่ใช้ประโยชน์ได้เพียง 1,000 กว่าเรื่อง ขณะเดียวกัน ความรู้ที่เกิดขึ้นมากมายนั้นก็มีวันหมดอายุ ดังนั้น นักวิจัยจำเป็นต้องสร้างความรู้ใหม่ ๆ ตลอดเวลา โดยนักวิจัยต้องตั้งคำถามและหาเป้าหมายจากโจทย์ในงานวิจัยนั้น ๆ ดังนั้น จึงต้องเริ่มต้นที่นักวิจัย โดยอาจทบทวนงานวิจัยของต่างประเทศ และไม่ควรลอกเลียนแบบหรือทำตาม แต่ควรพัฒนาจนไปสู่การวิจัยเพิ่มเติม ด้วยการเปลี่ยนวิธีคิด







ทั้งนี้ การดำเนินงานวิจัยประกอบด้วย 4 เส้นทางดังนี้ 

1. งานวิจัยเพื่อความเป็นเลิศทางวิชาการ จะมีความเป็นอิสระ มีระเบียบวิธี มีวงการตรวจสอบ หวังให้เกิดความรู้ใหม่ วิธีการใหม่ 2.งานวิจัยเพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจ มักผูกกับกลไกตลาด สอดคล้องกับการปฏิบัติ ได้ผลทันเวลา ไม่เปิดเผย หวังให้เกิดกระบวนการและผลิตภัณฑ์ที่เพิ่มความสามารถในการแข่งขัน 3. งานวิจัยเพื่อเสริมสร้างพลังสังคมและชุมชน มักมีอุดมการณ์กำกับ หวังให้การจัดการตัวเอง การอยู่ร่วมกับผู้อื่น การเป็นพลเมืองที่ดี 4. งานวิจัยเพื่อนโยบาย มักเป็นไปตามข้อมูลที่มีอยู่ หวังให้กติกาและมาตรการที่เอื้อต่อประชาชนในเขตพื้นที่







อย่างไรก็ตาม นักวิจัยไทยส่วนใหญ่อยู่ในภาครัฐและมหาวิทยาลัย จึงทำงานไปตามระเบียบแบบแผนเดิม ไม่มีสิ่งใหม่เกิดขึ้น วช.ในฐานะหน่วยงานนโยบายในการพัฒนาบุคลากรด้านการวิจัยของประเทศ จึงผลักดันให้นักวิจัยทำงานมากขึ้น โดยการเปลี่ยนสภาพแวดล้อมของนักวิจัย ทั้งเรื่องตำแหน่งทางวิชาการ ภาระงาน และการจัดสรรทุนวิจัย ทั้งนี้ วช.ได้จัดสรรงบประมาณสร้างกิจกรรมแม่ไก่ฝึกลูกไก่ เพื่อให้มีวิทยากรนักวิจัยที่มีความรู้ ความสามารถ ถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการวิจัยและสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่ ให้เป็นนักวิจัยมืออาชีพมากขึ้น ในลักษณะเครือข่ายเป็นทีมแม่ไก่ฝึกลูกไก่ จึงอยากให้นักวิจัยแข็งแรงและเติบโตหลังจากที่ผ่านการฝึกอบรบแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือหาทุนสนับสนุนนักวิจัยเหล่านี้ พร้อมกับการพัฒนากำลังคนในบริบทของไทยแลนด์ 4.0 ดังนั้นนักวิจัยต้องติดตามความก้าวหน้าเสมอ และใช้ความรู้นั้นแก้ไขปัญหา ดังคำที่ว่า “เมื่อโลกเปลี่ยน เราต้องเปลี่ยน เมื่อเราเปลี่ยน ไทยก็จะเปลี่ยน”






ด้านนางเพลินจิตต์ นกสกุล ผู้อำนวยการกลุ่มทรัพยากรบุคคล วช. กล่าวว่า การให้ทุนกับนักวิจัยลูกไก่ที่มีแม่ไก่เป็นที่ปรึกษาในการอบรม จะพิจารณาจากข้อเสนอโครงการวิจัยว่าตรงตามกรอบวิจัยที่ยึดตามยุทธศาสตร์ 7 ด้านหรือไม่ ซึ่งมีทั้งหมด 27 ทุน โดยให้เครือข่ายภูมิภาคเสนอมายัง วช. และจะประกาศผลภายในเดือนกันยายน 2560







จำนงค์ ศรัณยพิพัฒน์ เครือข่ายประชาสัมพันธ์ วช.
เรวัติ  น้อยวิจิตร  Hub Admin rewat.noyvijit@hotmail.com  081-9107445

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น