หน้าเว็บ

วันศุกร์ที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

ม.นเรศวร จับมือ สกว.และ ม.พะเยา ทำวิจัยการท่องเที่ยวเพื่อชุมชน



ม.นเรศวรจับมือ สกว.และม.พะเยา ทำวิจัยการท่องเที่ยวเพื่อชุมชน
นับถอยหลัง ๖ เดือน พบกับเส้นทางการท่องเที่ยวภูลมโลและพื้นที่เชื่อมโยง
โดยการจัดการของชุมชนและทุกภาคส่วน




เมื่อวันที่ ๔ กรกฎาคม ๒๕๕๙ณ อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า พิษณุโลก สถานอารยธรรมศึกษา โขง-สาละวิน มหาวิทยาลัยนเรศวร ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)และมหาวิทยาลัยพะเยา จัดการเสวนา “การจัดการชุมชนท่องเที่ยวบนพื้นที่ภูลมโลและพื้นที่เชื่อมโยงอย่างยั่งยืน”วัตถุประสงค์เพื่อระดมความคิดเห็นจากภาครัฐ เอกชน ชุมชนและผู้เกี่ยวข้องร่วมวางแผนอนาคตในระยะสั้นและระยะยาวเพื่อแก้ไขปัญหาและส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยมีนายปริญญา ปานทองรองอธิการบดีฝ่ายจัดการทรัพย์สินมหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวปาฐกถาพิเศษ ร่วมด้วยนายธัชชัย สีสุวรรณ รองผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก, พลเอก ดร.ศิริทิวะพันธุ์ ประธานสถาบันพัฒนาสี่แยกอินโดจีน, ผู้ช่วยศาสตราจารย์สุภาวดี โพธิยะราช ผู้ประสานงานโครงการวิจัยอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริหาร สกว., ผู้แทนจากกองทัพภาคที่ ๓,ผู้แทนชุมชน, องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น, ผู้ประกอบการ,องค์กรด้านการท่องเที่ยวและวัฒนธรรม


ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วศิน ปัญญาวุธตระกูล ผู้อำนวยการสถานอารยธรรมศึกษา โขง-สาละวินกล่าวถึงความเป็นมาของการจัดงานนี้ว่า“การเสวนาครั้งนี้เป็นผลมาจากงานวิจัย เพื่อศึกษาศักยภาพ แนวทาง สถานการณ์ปัจจุบัน ทิศทางการพัฒนาพื้นที่ท่องเที่ยวภูลมโล รวมถึงมุมมองการท่องเที่ยวที่สำคัญในช่วงเดือนธันวาคม– กุมภาพันธ์ของทุกปี ซึ่งนักท่องเที่ยวนิยมมาสัมผัสธรรมชาติชื่นชมดอกนางพญาเสือโคร่งอันสวยงามบานสะพรั่งเต็มภูเขาหรือที่เรียกกันว่าดอกซากุระบาน ตลอดจนศึกษาวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชนชาวม้งในพื้นที่ภูลมโล เกี่ยวกับผลกระทบจากการท่องเที่ยว ศักยภาพในการรับมือกระแสการท่องเที่ยว”
ในการศึกษาวิจัยนั้น ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วศิน ปัญญาวุธตระกูล กล่าวเพิ่มเติมว่า“ต้องศึกษาทั้งแง่บวกที่ต้องช่วยกันส่งเสริมและแง่ลบที่อาจเกิดปัญหา โดยเฉพาะอย่างยิ่งคุณค่าทางวัฒนธรรม จากการลงพื้นที่พบว่าชาวม้งมีวิถีชีวิต เศรษฐกิจ วัฒนธรรม ประเพณี การละเล่นที่เคยรู้จักกันเพียงในกลุ่ม ได้ถูกพัฒนาเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว นับเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยว แต่หากมองอีกส่วนหนึ่งที่น่ากังวลคือ ภูลมโลเชื่อมโยงหลายพื้นที่ จากที่เคยเป็นจุดหมายปลายทางการชมธรรมชาติของนักท่องเที่ยว กลายมาเป็นจุดที่พักแทนเขาค้อหรือภูทับเบิก จึงเกิดการสร้างโฮมเสตย์เพื่อรองรับนักท่องเที่ยว สิ่งนี้อาจมีผลต่อระบบเศรษฐกิจและโครงสร้างของชุมชน เกิดการเปลี่ยนแปลงที่อาจกลายเป็นปัญหาในอนาคต”


            ในการดำเนินงานวิจัยประกอบด้วย ๓ ส่วน คือ
๑.     ความคาดหวังที่จะพัฒนาให้สูงสุดเป็นอย่างไร
๒.     มองถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้น ณ ภูลมโลและพื้นที่เชื่อมโยง เช่น สาธารณูปโภคเพียงพอหรือไม่ เหตุดินสไลด์ การสร้างที่พักแบบไม่วางแผน พื้นที่เพียงพอต่อการพัฒนาศักยภาพหรือไม่ ปัญหารถติด เป็นต้น เหล่านี้ต้องมีการเตรียมการอย่างไร
๓.     ความเป็นไปได้ในการวางแผนระยะสั้นและระยะยาว
ทั้งนี้ภูลมโลมีเส้นทางเชื่อมจาก ๓ พื้นที่ คือ บ้านใหม่ร่องกล้า จังหวัดพิษณุโลก ภูทับเบิก จังหวัดเพชรบูรณ์
และบ้านกกสะทอน จังหวัดเลย ซึ่งแต่ละหมู่บ้านล้วนมีการบริหารจัดการและองค์กรสนับสนุนอันแตกต่าง จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการระดมสมอง พูดคุย ทั้งในส่วนของจังหวัด บทบาทของกองทัพภาคที่ ๓ บทบาทของชุมชน อุทยาน องค์กรต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนอันจะเป็นประโยชน์ต่อการวางแผนระยะสั้นและระยะยาวของชุมชนตลอดจนการจัดการท่องเที่ยวของชุมชนในพื้นที่ภูลมโลและพื้นที่เชื่อมโยงต่อไป


“ภายหลังการเสวนาจะมีการรวบรวม สกัดทุกข้อมูล ความคิดเห็น เพื่อวางแผนการจัดการชุมชนท่องเที่ยวบนพื้นที่ภูลมโลและพื้นที่เชื่อมโยงอย่างยั่งยืน โดยจะก่อร่างสร้างเป็นรูปธรรมและดำเนินงานจริงในอีก ๖ เดือนข้างหน้า”ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วศิน ปัญญาวุธตระกูล กล่าวทิ้งท้าย



พรปวีณ์ ทองด้วง  นักประชาสัมพันธ์ 
สถานอารยธรรมศึกษา โขง-สาละวิน มหาวิทยาลัยนเรศวร

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น