วันพฤหัสบดีที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2556
ประชุมการมีส่วนร่วม ครั้งที่ 2 “รถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ – โคราช”
สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร(สนข.) ได้จัดการประชุมการมีส่วนร่วมของประชาชน ครั้งที่ 2 โครงการศึกษาและออกแบบรถไฟความเร็วสูง สายกรุงเทพฯ – หนองคาย ระยะที่ 1 กรุเทพฯ – นครราชสีมา มีนายชโลธร ผาโคตร รองผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรีเป็นประธาน โดยมีนายนิรัตน์ ตันสวัสดิ์ ผู้จัดการโครงการกล่าวรายงาน มีผู้เข้าร่วมรับฟังประมาณ 200 คน ณ. หอประชุมสวนริมเขา ตำบลตลิ่งชัน อำเภอเมือง จังหวัดสระบุรี
เมื่อ 12 มิ.ย. 56 เวลา 09.00 น. นายชโลธร ผาโคตร รองผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี เป็นประธาน ประชุมการมีส่วนร่วมของประชาชน ครั้งที่ 2 โครงการศึกษาและออกแบบรถไฟความเร็วสูง สายกรุงเทพฯ – หนองคาย ระยะที่ 1 กรุเทพฯ – นครราชสีมา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอ ผลสรุปผลการศึกษาเกี่ยวกับ แนวเส้นทาง โครงสร้างที่เหมาะสม สถานี รูปแบบการให้บริการ ตลอดจนผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและมาตรการบรรเทาและแก้ไขผลกระทบดังกล่าว โดยเฉพาะข้อมูลเจาะลึกของพื้นที่ย่อยที่ 2 ช่วงสถานีชุมทางบ้านภาชี – สถานีมวกเหล็ก จ.สระบุรี เพื่อให้ชาวจังหวัดพระนครศรีอยุธยาและจังหวัดสระบุรีที่มีส่วนได้ส่วนเสียจากทั้งจากหน่วยงานราชการ หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรเอกชน สถาบันศึกษา และประชาชนในพื้นที่โครงการฯ และพื้นที่ใกล้เคียงได้ร่วมรับฟังรายละเอียดของโครงการฯ พร้องทั้งสามารถแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ สำหรับนำไปปรับปรุงผลการศึกษาในขั้นตอนต่อไป
ในขั้นตอนการศึกษาความเหมาะสม และออกแบบนั้น สนข. ได้ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมในทุกๆ ด้าน โดยจะมีรูปแบบโครงสร้าง ทั้งทางยกระดับ ในช่วงที่มีจุดตัดกับถนนหลายแห่งหรือผ่านชุมชนขนาดใหญ่ อาทิ อำเภอเมืองสระบุรี แก่งคอย มวกเหล็ก ปากช่อง สีคิ้ว สูงเนิน และอำเภอเมืองนครราชสีมา ทางระดับดิน รวมถึงสะพานในช่วงพื้นที่ราบที่มีจุดตัดรถไฟกับถนนไม่มากและอยู่นอกเขตชุมชน และอุโมงค์ในช่วงภูเขาสูงชันและกระทบต่อแหล่งอนุรักษ์ เช่น ที่จังหวัดสระบุรีในช่วงเขาพระพุทธฉายและช่วงที่ผ่านอุทยานแห่งชาติน้ำตกสามหลั่น รวมไปถึงพื้นที่ของจังหวัดนครราชสีมา บริเวณอ่างเก็บน้ำเขื่อนลำตะคอง
ผลการศึกษายังพบอีกว่า ความเร็วที่เหมาะสมคือ 250-300 กิโลเมตรต่อชั่วโมง โดยมีอัตราค่าโดยสารประมาณ 2.30 บาท/กม. นอกจากนี้ ยังได้ศึกษาบนสมมติฐานสำหรับการคิดค่าโดยสารแบบเก็บค่าเดินทางแรกเข้า 55 บาท หลังจากนั้นคิดในอัตรา 2.10 บาท/กม. ในขณะที่ค่าใช้จ่ายของการเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัวจะอยู่ที่ กม.ละ 3-4 บาท สำหรับการออกแบบสถานีจะใช้มาตรฐาน Universal Design เน้นความทันสมัย ผสานอัตลักษณ์ท้องถิ่น เช่นสระบุรี จะสื่อถึงเขาพระพุทธฉาย ทุ่งทานตะวัน รวมไปถึงต้นไม้และดอกไม้ประจำจังหวัด อย่างดอกสุพรรณิการ์และต้นตะแบกนา โดยคำนึงถึงความสบายของผู้โดยสารเป็นหลัก มีจุดอำนวยความสะดวกสำหรับผู้พิการและผู้สูงอายุ มีทางลาดขึ้นลงไม่มีขั้นบันไดและมีห้องประกอบพิธีกรรมทางศาสนาไว้ให้บริการ
จังหวัดสระบุรีเป็นจุดเชื่อมต่อของรถไฟความเร็วสูงสายกรุงเทพฯ – นครราชสีมา ไปสู่เส้นทางภาคตะวันออกถึงจังหวัดระยอง ที่อำเภอแก่งคอย ซึ่งโครงการศึกษาและพัฒนารถไฟความเร็วสูง (Airport Rail Link) ต่อจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ–ชลบุรี –พัทยา–ระยอง การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) อยู่ระหว่างเตรียมลงนามในสัญญาจ้างที่ปรึกษา สำหรับศึกษาความเหมาะสม ออกแบบ และศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมต่อไป
สำหรับผู้เข้าร่วมการประชุมได้แสดงความคิดเห็นทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยจากการที่ทีมข่าวสอบถามผู้นำองค์กรเอกชนใหญ่ๆ หลายหน่วยงานถึงความเหมาะสมของโครงการทั้งผลกระทบจากการเวนคืนที่ดิน ด้านงบประมาณกับประโยชน์ของประชาชนที่จะได้รับบางส่วนมองว่าหากนำเงินงบประมาณส่วนนี้มาเป็นการปรับปรุงถนนให้กว้างและดีขึ้น และสร้างจุดกลับรถเพื่อแก้ปัญหาอุบัติเหตุและการจราจร จะสร้างประโยชน์และสูญเสียงบประมาณที่คุ้มค่าและเหมาะสมกับประเทศมากกว่า สำหรับผู้ที่เห็นด้วยกลับมองว่าเพื่อความทันสมัยและความสะดวกและรวดเร็ว และคุ้มค่ากับการลงทุน ซึ่งทาง สนข.ต้องนำไปศึกษา และชี้แจงให้ประชาชนทราบตามขั้นตอนต่อไป
(คนธรรมดา ม้าตัวเดียว)
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น