หน้าเว็บ

วันจันทร์ที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

สุพรรณบุรี เกษตรจังหวัดฯ เตือนชาวนา เฝ้าระวังเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล แม้ไม่พบการระบาดที่รุนแรง




           เกษตรจังหวัดสุพรรณบุรีแจ้งเตือนผู้ปลูกข้าวติดตามสถานการณ์การระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล แม้ขณะนี้ยังไม่พบการระบาดที่รุนแรง แต่ไม่ควรนิ่งนอนใจ






             นายไพฑูรย์  รื่นสุข เกษตรจังหวัดสุพรรณบุรี เปิดเผยว่าจากการติดตามสถานการณ์ศัตรูข้าว ของกลุ่ม   อารักขาพืช สำนักงานเกษตรจังหวัดสุพรรณบุรี ร่วมกับศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชน พบว่าในขณะนี้เริ่มพบการทำลายของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลในแปลงนาข้าวของเกษตรกรในพื้นที่อำเภอเมืองสุพรรณบุรี เป็นแปลงนาข้าวพันธุ์ กข 41 อายุประมาณ 15 วัน และในพื้นที่อำเภอหนองหญ้าไซ เป็นแปลงนาข้าวพันธุ์ปทุมธานี 1 อายุประมาณ 110 วัน  โดยเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลทั้งตัวอ่อนและตัวเต็มวัย จะทำลายข้าวโดยการดูดการกินน้ำเลี้ยงจากเซลล์ท่อน้ำท่ออาหาร บริการโคนต้นข้าวระดับเหนือผิวน้ำ ทำให้ต้นข้าวมีอาการใบเหลืองแห้ง ลักษณะคล้ายถูกน้ำร้อนลวกแห้งตายเป็นหย่อมๆ เรียก “อาการไหม้” (hopper burn)







                เกษตรจังหวัดสุพรรณบุรี กล่าวเพิ่มเติมว่าเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายต่อผลผลิตของเกษตรกร ขอแนะนำให้เกษตรกรควรหมั่นสำรวจแปลงนาอย่างสม่ำเสมอ ในกรณีที่พบเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลมีปริมาณน้อยกว่า 10 ตัวต่อกอ หรือยังไม่เกิดการระบาด สามารถใช้เชื้อราบิวเวอร์เรียในการควบคุมการระบาด โดยใช้เชื้อราบิวเวอเรีย (เชื้อสด) อัตรา 1 กิโลกรัม (2 ถุง) ต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นในบริเวณที่พบเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล โดยพ่นในช่วงเวลาเย็น  รวมถึงควบคุมระดับน้ำในนา หลังปักดำหรือหว่าน 2-3 สัปดาห์ จนถึงระยะตั้งท้อง ควบคุมน้ำในแปลงนาให้พอ      ดินเปียก หรือมีน้ำเรี่ยผิวดินนาน 7-10 วัน แล้วปล่อยขังทิ้งไว้ให้แห้งเองสลับกันไป จะช่วยลดการระบาดของ     เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล หากมีความจำเป็นต้องใช้สารเคมีควรใช้สารเคมีตามคำแนะนำของกรมวิชาการเกษตร ดังนี้ ใช้สารบูโพรเฟซีน (แอปพลอด 10% WP) อัตรา 25 กรัม/น้ำ 20 ลิตร หรือใช้สารอีโทเฟนพรอกซ์ (ทรีบอน 10% EC) อัตรา 20 ซีซี/น้ำ 20 ลิตรหรือบูโพรเฟซิน/ไอโซโปรคาร์บ (แอปซิน/มิพซิน 5%/20% WP ) อัตรา 50 กรัม/น้ำ      20 ลิตร ฉีดพ่นเมื่อพบเป็นระยะตัวเต็มวัยเป็นส่วนใหญ่ และสารเคมีบางชนิดที่ไม่แนะนำให้ใช้ในนาข้าวเนื่องจากจะทำให้เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลระบาดเพิ่มขึ้นเป็นสารกลุ่มไพรีทรอยด์สังเคราะห์ ได้แก่ แอลฟาไซเพอร์เมทริน 10% EC ชนิดพ่นน้ำ ไซแฮโลทริน แอล 5 % EC ชนิดพ่นน้ำ  ไซเพอร์เมทริน 15 % EC 25% EC ชนิดพ่นน้ำ  ทั้งนี้ หากพบการระบาดให้แจ้งเจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรอำเภอทุกอำเภอใกล้บ้าน หรือสำนักงานเกษตรจังหวัดสุพรรณบุรี ดำเนินการควบคุมและป้องกันกำจัดทันที


 
 


เกรียงไกร ก่อเกียรติตระกูล บรรณาธิการข่าว 
เรวัติ น้อยวิจิตร Hub Admin rewat.noyvijit@hotmail.com 081-9107445

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น