หน้าเว็บ

วันพฤหัสบดีที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2561

วช.หนุนวิจัยเก็กฮวยช่วยชุมชนชายแดน



               สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ หรือ วช. หนุนวิจัยสร้างทางเลือกให้ชุมชนพื้นที่สูง ปลูกเก็กฮวยแก้ปัญหาพื้นที่ได้ผลจริง




               ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุทธิพร ธเนศสกุลวัฒนา นักวิจัยจากสถาบันพัฒนาเศรษฐกิจ พลังงานและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย กล่าวถึงงานวิจัยมุ่งเป้าที่ วช.สนับสนุนเพื่อพัฒนาท้องถิ่น ภายใต้โครงการขับเคลื่อนการพัฒนาเกษตรยั่งยืน ทดแทนการปลูดข้าวโพด ในพื้นที่จังหวัดเชียงราย และนำสื่อมวลชนสัญจร ลงพื้นที่ตามโครงการฯ เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2561ว่า คณะนักวิจัย ได้เลือกพื้นที่วิจัยที่มีปัญปลูกพืชทำลายสิ่งแวดล้อม ซึ่งส่วนใหญ่ปลูกข้าวโพดใช้สารเคมี และพื้นที่เสี่ยงปัญหายาเสพติด ตามตะเข็บชายแดนไทย-พม่า ในตำบลเทอดไทย และแม่สลองใน อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย โดยสร้างองค์ความรู้การปลูกเก็กฮวยอินทรีย์ และถ่ายทอดสู่ชุมชนผ่านทางโรงเรียนสามัคคีพัฒนา ซึ่งเป็นโรงเรียนในพื้นที่ ให้เป็นศูนย์เรียนรู้ต้นแบบ "เก็กฮวยอินทรีย์" สายพันธุ์สีเหลือง ดอกใหญ่ เนื่องจากเป็นที่ต้องการของตลาด จากนั้นสร้างการมีส่วนร่วมและขยายผลสู่ชุมชนจนประสบผลเร็จ สร้างอาชีพ สร้างรายได้ และเป็นรั้วกันภัยทั้งมลพิษและยาเสพติด
 





             ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุทธิพรฯ ยอมรับว่า ช่วงแรกๆ ชุมชนยังไม่ยอมรับ แต่เมื่อเพื่อนบ้านปลูกเก็กฮวยได้ผล จึงทดลองปลูกบ้าง โดยการมีส่วนร่วมของผู้นำชุมชน จนมีเกษตรกรหันมาปลูกเก็กฮวยอินทรีย์ แทนการปลูกข้าวโพดเพิ่มขึ้นเป็น 60 ไร่ โดยเฉลี่ย 1 ครัวเรือนต่อ 1 ไร่ เพราะไม่ต้องใช้พื้นที่มาก และช่วงเก็บเกี่ยวผลผลิตจะอยู่ระหว่างเดือนพฤศจิกายนถึงกุมภาพันธ์ ซึ่งสร้างรายได้ดีกว่าการปลูกข้าวโพด แต่ผลผลิตเก็กฮวยอินทรีย์ก็ยังไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาด ดังนั้น จะมีการพัฒนาผู้ประกอบการ SME และช่องทางการตลาดเพื่อให้เกิดความยั่งยืนต่อไป
 




              อย่างไรก็ตาม มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย ยังคงขับเคลื่อนและเป็นพี่เลี้ยงให้สังคมและชุมชนอย่างต่อเนื่อง เพราะเป็นภารกิจสำคัญ ตามนโยบายรัฐบาล





จำนงค์ ศรัณยพิพัฒน์ เครือข่ายประชาสัมพันธ์ วช
เรวัติ  น้อยวิจิตร  Hub Admin rewat.noyvijit@hotmail.com  081-9107445

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น