หน้าเว็บ

วันอังคารที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

ตามรอยพระราชวังจันทน์ ราชสำนักเมืองพิษณุโลก

ตามรอยพระราชวังจันทน์ รวบรวมองค์ความรู้ สู่การพัฒนา ฟื้นฟูดินแดนประวัติศาสตร์ ราชสำนักเมืองพิษณุโลก ข่าวการขุดพบฐานรากของพระราชวังจันทน์ ในขณะขุดหลุมลงเสาเพื่อก่อสร้างอาคารเรียนหลังใหม่ของโรงเรียนพิษณุโลกพิทยาคม เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๕ สร้างความตื่นเต้นดีใจให้กับชาวพิษณุโลกเป็นอย่างยิ่ง เพราะนี่คือหลักฐานสำคัญอันสอดคล้องกับข้อมูลทางประวัติศาสตร์ที่พิสูจน์ว่า สถานที่แห่งนี้เป็นที่ประทับของสมเด็จพระบรมไตรโลกนารถ สถานที่เสด็จพระราชสมภพของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช และสถานที่ประทับขณะดำรงตำแหน่งพระมหาอุปราช หลังจากการขุดค้นพบ ทางกรมศิลปากรได้ดำเนินการขุดค้นทางโบราณคดีและพบร่องรอยของพระราชวังจันทน์อย่างชัดเจน จึงได้จัดตั้งโครงการอนุรักษ์พระราชวังจันทน์ เพื่อดำเนินงานอนุรักษ์และพัฒนาให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ โดยได้ขอความร่วมมือให้ย้ายโรงเรียนพิษณุโลกพิทยาคมออกจากพื้นที่ รวมทั้งขอความร่วมมือจากหน่วยงานราชการต่าง ๆ ที่ใช้พื้นที่บริเวณพระราชวังจันทน์ให้โยกย้ายออกทั้งหมด เพื่อดำเนินการบูรณะพระราชวังจันทน์และปรับปรุงภูมิทัศน์โดยรอบให้มีความสง่างาม สมกับเป็นพระราชวังโบราณที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ไทย และขณะนี้อยู่ในระหว่างการจัดสร้างศูนย์ประวัติศาสตร์พระราชวังจันทน์ จังหวัดพิษณุโลกขึ้น บริเวณสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ ๔ จังหวัดพิษณุโลก เป็นส่วนหนึ่งของโครงการอนุรักษ์และพัฒนาพระราชวังจันทน์ ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๒๐ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๕ เพื่อเป็นสถานที่ศึกษาเรียนรู้เรื่องราวโบราณคดีและประวัติศาสตร์ของพระราชวังจันทน์เมืองพิษณุโลก งานศิลปกรรมช่างหลวงเมืองพิษณุโลก และวีรกรรมของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช จังหวัดพิษณุโลก “มหาวิทยาลัยนเรศวรในฐานะสถาบันการศึกษาที่ใช้พระนามของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช จึงมีพันธกิจสำคัญในการศึกษา สืบค้น รวบรวม และเผยแพร่เรื่องราวเกี่ยวกับสมเด็จพระนเรศวรมหาราช โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระราชวังจันทน์ ซึ่งที่ผ่านมามีการศึกษาโดยนักวิชาการอย่างต่อเนื่อง แต่ยังคงมีคำถามและข้อสงสัยในประเด็นต่าง ๆ มากมาย จึงเป็นภารกิจของมหาวิทยาลัยนเรศวรในการจัดเวทีเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้และรวบรวมองค์ความรู้ที่เกี่ยวกับพระราชวังจันทน์ อันจะนำไปสู่บทสรุปและการเผยแพร่ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลักษณะหรือภูมิสัณฐาน สู่วงการวิชาการและประชาชนที่สนใจ ตลอดจนกระตุ้นให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ต่าง ๆ อย่างเป็นรูปธรรมต่อไป” ศาสตราจารย์ ดร.สุจินต์ จินายน อธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร โครงการ “พระราชวังจันทน์ : สถานภาพ องค์ความรู้ รูปลักษณ์สัณฐาน” จึงเกิดขึ้น โดยมีสถานอารยธรรมศึกษา โขง-สาละวิน เป็นผู้ดำเนินงานหลักร่วมกับคณะวิชาต่าง ๆ ภายในมหาวิทยาลัยนเรศวร ดร.วศิน ปัญญาวุธตระกูล ผู้อำนวยการสถานอารยธรรมศึกษา โขง-สาละวิน มหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวถึงเป้าหมายสำคัญของการจัดงานนี้ว่า “เป็นการศึกษาความเป็นมาของพระราชวังจันทน์ บทบาทของพระราชวังจันทน์ในฐานะราชสำนักของเมืองพิษณุโลกในมิติทางด้านประวัติศาสตร์ ศึกษาประวัติความเป็นมาของการขุดค้นทางโบราณคดีว่าเจออย่างไร มีการขุดค้นกี่ขั้นตอน และข้อค้นพบใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้น นอกจากนี้ยังเป็นการศึกษาแนวทางการพัฒนาพระราชวังจันทน์ในมิติของการเป็นพิพิธภัณฑ์ การจัดศูนย์การเรียนรู้ ตลอดจนการผลักดันพระราชวังจันทน์เป็นส่วนหนึ่งของมรดกโลก สุโขทัย ศรีสัชนาลัย กำแพงเพชร โดยมีการผนวกพิษณุโลกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของแผนพัฒนามรดกโลกในประเทศไทย และที่สำคัญเป็นการศึกษารูปลักษณ์สัณฐานว่า ลักษณะของผลพวงจากการขุดค้นพบทางโบราณคดี พระราชวังจันทน์มีรูปลักษณ์สัณฐานเป็นอย่างไร” โครงการ “พระราชวังจันทน์ : สถานภาพ องค์ความรู้ รูปลักษณ์สัณฐาน”กำหนดจัดขึ้นในวันที่ ๒๙ – ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๕๖ ณ มหาวิทยาลัยนเรศวร และพระราชวังจันทน์ ประกอบด้วยการบรรยายพิเศษและการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ โดยผู้เชี่ยวชาญทางด้านโบราณคดีและพิพิธภัณฑ์ ได้แก่ อาจารย์พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์โบราณคดี อาจารย์จุลทัศน์ พยาฆรานนท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปะไทย สำนักศิลปกรรมราชบัณฑิตยสถาน นางนาตยา กรณีกิจ นักโบราณคดีชำนาญการ กลุ่มโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ ๖ สุโขทัย นายพีรพน พิสณุพงศ์ ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ ๖ สุโขทัย และศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. สันติ เล็กสุขุม ประธานหลักสูตรการบริหารศิลปะและวัฒนธรรม คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา นอกจากนี้ยังมีการเชิญผู้เชี่ยวชาญทางด้านการวาดภาพเข้ามารวบรวมองค์ความรู้ แล้วร่างแบบรูปลักษณ์พระราชวังจันทน์ในลักษณะที่ควรจะเป็น ตลอดจนร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยทางเทศบาลนครพิษณุโลกมีส่วนร่วมในการนำผลพวงขององค์ความรู้ไปพัฒนาเป็นภาพสามมิติ รวมถึงลักษณะของโมเดลพระราชวังจันทน์ เพื่อเป็นจุดเรียนรู้รูปลักษณ์สัณฐาน และความเป็นมาของพระราชวังจันทน์สำหรับประชาชนชาวเมืองพิษณุโลกและนักท่องเที่ยวโดยทั่วไป โครงการนี้จึงเป็นความภาคภูมิใจของชาวพิษณุโลกในการพลิกย้อนประวัติศาสตร์ ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช วีรกษัตริย์ผู้ทรงคุณูปการอันใหญ่หลวงแก่แผ่นดินไทย ดังพระราชดำรัสของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในโอกาสงานรำลึกสมเด็จพระนเรศวรมหาราชครองสิริราชสมบัติครบ ๔๐๐ ปี วันที่ ๒๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๓๓ ซึ่งตรงกับวันสถาปนามหาวิทยาลัยนเรศวร “...สมเด็จพระนเรศวรมหาราช เป็นพระมหากษัตริย์นักรบที่ยิ่งใหญ่ ทรงอุทิศพระองค์กอบกู้เอกราชปกป้องรักษาบ้านเมืองให้ปวงประชาราษฎร์ร่มเย็น จนประวัติศาสตร์ได้จารึกพระราชประวัติและพระราชกรณียกิจไว้อย่างน่าภาคภูมิ ขอวีรกรรมที่ทรงเสียสละเพื่อรักษาแผ่นดินด้วยความอดทน กล้าหาญ จงเป็นเครื่องเตือนใจให้ทุกคนได้ตระหนัก สำนึกในชาติภูมิของตน และพร้อมที่จะเสียสละประโยชน์สุขส่วนตนเพื่อดำรงไว้ซึ่งประโยชน์สุขส่วนรวม ข้อมูลพระราชวังจันทน์จากศูนย์ประวัติศาสตร์พระราชวังจันทน์ จังหวัดพิษณุโลก พรปวีณ์ ทองด้วง ประชาสัมพันธ์ สถานอารยธรรมศึกษา โขง-สาละวิน มหาวิทยาลัยนเรศวร

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น