หน้าเว็บ

วันศุกร์ที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2556

เปิดจดหมายเหตุศิลปวัฒนธรรม ย้อนรอยความสุข ความทรงจำ ในนิทรรศการ “เล่นๆ”

“ของเล่น” นับเป็นสัญลักษณ์ของความสุข สนุกสนาน การสร้างทักษะ เสริมจินตนาการ เป็นความทรงจำอันสุดแสนประทับใจในวัยเด็ก นอกจากนี้แล้ว ของเล่นยังมีคุณค่าเป็นแบบจำลองทางวัฒนธรรม ความเชื่อ ค่านิยม ศิลปะ เทคโนโลยีของแต่ละยุคได้เป็นอย่างดี นิทรรศการ “เล่นๆ” เป็นเจตนารมณ์ของชาวสถานอารยธรรมศึกษา โขง-สาละวิน มหาวิทยาลัยนเรศวร เพื่อนำเสนอชุดความจำกับของเล่นวัยเด็ก ในระหว่างวันที่ ๑๗ เมษายน – ๑๗ มิถุนายน ๒๔๔๖ ณ พิพิธภัณฑ์ผ้า มหาวิทยาลัยนเรศวร ยุคแรก บรรดาเด็ก ๆ ต่างใจจดใจจ่ออยู่กับดินเหนียวในมือของปู่ย่าที่บรรจงปั้นแต่งเป็นช้าง ม้า วัว ควาย ฯลฯ ให้ได้ล้อมวงกันเล่นเพื่อความเพลิดเพลิน หรืออาจนำไปใช้ในพิธีกรรมต่าง ๆ ทั้งในรูปแบบวัตถุดินเผาแบบธรรมดา จนถึงดินเผาแบบเคลือบ และแบบลงลวดลายสวยงาม นอกเหนือจากนี้ยังมีปลาตะเพียนสานใบลานหรือใบมะพร้าว ตลอดจนกระดิ่งลมจากก้ามปูและเปลือกหอย ที่ส่งเสียงกรุ๋งกริ๋ง แกว่งไปมา ยามลมพัด ของเล่นรุ่นปู่ ย่า ตา ยาย มีมาตั้งแต่สมัยทวารวดี อยุธยา สุโขทัย ฯลฯ ล้วนมาจากวัสดุธรรมชาติรอบตัวที่ไม่ต้องซื้อหา เป็นหัตถศิลป์ที่ส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น เป็นมรดกทางวัฒนธรรม ทั้งยังสานสัมพันธ์คนในครอบครัวและชุมชนได้อีกด้วย ยุคกลาง จากวัสดุธรรมชาติสู่วัสดุทางวิทยาศาสตร์ ของเล่นยอดนิยมคือของเล่นสังกะสี ที่มีมาตั้งแต่ช่วงปลายยุค ๑๘๕๐ โดยประเทศเยอรมัน เช่น ตุ๊กตาสัตว์ รถยนต์ หุ่นยนต์ ตามมาด้วยของเล่นประเภทโลหะ พลาสติก แก้ว ผ้า ฯลฯ โดยมีตุ๊กตาหมีเป็นของเล่นที่ฮิตติดลมบนมาจนถึงปัจจุบัน สำหรับประเทศไทย ของเล่นเหล่านี้เข้ามามากที่สุดในสมัยรัชกาลที่ ๕ เนื่องจากมีห้างสรรพสินค้าของต่างชาติเข้ามาเปิดในเมืองไทยหลายแห่ง ของเล่นที่นิยมก็คือ ตุ๊กตาขนปุยต่าง ๆ รถราง ลูกโป่ง ลูกบอล เป็นต้น ยุคปัจจุบัน ตุ๊กตาบลายธ์ที่ผู้เล่นสามารถเปลี่ยนสีผม ขัดหน้า ปัดแก้ม ติดขนตา เปลี่ยนทรงผมฯ หรือเกมกดที่ต้องลงมือบังคับ ควบคุม โต้ตอบ ยังมีสารพัดข้าวของย่อส่วน และของเล่นที่เพิ่มกลไกบังคับให้ขยับเขยื้อนเคลื่อนไหว จนกระทั่งของเล่นไฮเทคล่าสุดที่มีหน่วยความจำขนาด ๕๐๐ KB และสามารถเล่นร่วมกับ สมาร์ทโฟนได้ อย่างเจ้าเฟอร์บี้ เหล่านี้คือผลแห่งความเจริญรุ่งเรืองทางเทคโนโลยีที่เป็นส่วนสำคัญในการดำเนินชีวิตของคนในยุคนี้ ทุกวันนี้ของเล่นยังคงมีวิวัฒนาการอย่างต่อเนื่อง ทำหน้าที่ให้ความสุข ความจรรโลงใจ และสะท้อนวิถีของผู้คนในสังคมแต่ละยุคสมัยได้เป็นอย่างดี พรปวีณ์ ทองด้วง และวชิรพงษ์ วงศ์ประสิทธิ์ สถานอารยธรรมศึกษา โขง-สาละวิน มหาวิทยาลัยนเรศวร

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น