หน้าเว็บ

วันพุธที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2561

อนุฝึกอบรมสมาคมนักวิจัยฯ พัฒนานักวิจัยรุ่นใหม่



            สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ และสมาคมนักวิจัยแห่งประเทศไทย โดยคณะอนุกรรมการฝ่ายฝึกอบรมฯ ร่วมพัฒนานักวิจัยรุ่นใหม่ เตรียมพร้อมสร้างนักวิจัยคุณภาพในอนาคต




              ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พิพัฒน์ นนทนาธรณ์ นายกสมาคมนักวิจัยแห่งประเทศไทย กล่าวว่า โครงการสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่ หรือ ลูกไก่ ประจำปี 2561 มีทั้งหมด 3 รุ่น คือ รุ่นที่ 12, 13 และ 14 ขณะนี้อยู่ระหว่างการอบรมรุ่นที่ 14 ซึ่งเป็นรุ่นสุดท้ายของปีงบประมาณ  ที่มหาวิทยาลัยราชภัฎนครสวรรค์ จนถึงวันที่ 3 สิงหาคมนี้ โดยมีผู้สนใจร่วมอบรม 69 คน ส่วนการอบรม 2 รุ่นที่ผ่านมาก็ได้รับความสนใจอย่างมากเช่นกัน โครงการนี้เป็นความร่วมมือระหว่างสมาคมนักวิจัยฯ และสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ จัดโดยคณะอนุกรรมการฝ่ายฝึกอบรมของสมาคมฯ เพื่อพัฒนานักวิจัยให้มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างมีคุณภาพ เนื่องจากที่ผ่านมา วช.ได้พัฒนาหลักสูตรการฝึกอบรมวิทยากรหลักสูตรการพัฒนานักวิจัย หรือแม่ไก่  เพื่อใช้ในการฝึกอบรมนักวิชาการ นักวิจัย ตลอดจนบุคลากรจากภาคส่วนอื่น ๆ ที่เหมาะสม ซึ่งสรรหาและคัดเลือกโดยมหาวิทยาลัย หน่วยงาน ที่ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการกับ วช.ในการเข้าอบรมให้เป็นวิทยากรที่มีความรู้ ความสามารถ และดำเนินการจัดฝึกอบรม เพื่อพัฒนานักวิจัย ในโครงการฝึกอบรม สร้างนักวิจัยรุ่นใหม่ (ลูกไก่) ร่วมกับ วช.




               การอบรมนักวิจัยรุ่นใหม่ มีทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ ในประเด็นหัวข้อต่าง ๆ ที่สำคัญสำหรับนักวิจัยรุ่นใหม่ เช่น ปรัชญาการวิจัยและจรรยาบรรณการวิจัย / การกำหนดโจทย์การวิจัยแบบบูรณาการที่สอดคล้องกับนโยบายการวิจัยของประเทศ ตามบริบทของชุมชน และงานตามภารกิจหลัก / ฝึกปฏิบัติเขียนการทบทวนวรรณกรรมและกรอบแนวคิดการสังเคราะห์วรรณกรรม / การออกแบบการวิจัย รูปแบบการวิจัยเชิงปริมาณ การกำหนดขนาดตัวอย่างและการวิเคราะห์ข้อมูล / การออกแบบการวิจัย รูปแบบการวิจัยเชิงคุณภาพ การกำหนดกลุ่มเป้าหมายและการวิเคราะห์ข้อมูล เป็นต้น ซึ่งช่วงเวลาระหว่างการอบรมจะมีกิจกรรมให้ผู้อบรมได้ผ่อนคลายไม่เครียดด้วย




              ทั้งนี้ คาดว่าประโยชน์ที่ได้จากโครงการอบรมฯ จะช่วยสร้างนักวิจัยให้มีความรู้และประสบการณ์ในการทำวิจัยอย่างมีระบบ สามารถนำความรู้และประสบการณ์ไปทำวิจัย และปรับปรุงกระบวนการวิจัยที่หน่วยงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถสร้างผลงานวิจัยได้อย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง ซึ่งจะส่งผลให้ประเทศมีจำนวนนักวิจัยที่มีคุณภาพเพิ่มขึ้น และยังเป็นการยกระดับการวิจัยของประเทศให้ผลการวิจัยตอบสนองภาคการผลิตและภาคบริการ อีกทั้งมีชิ้นงานคุณภาพสามารถใช้เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันได้ ที่สำคัญคือ ได้นักวิจัยมีวิสัยทัศน์กว้างไกลและมีเครือข่ายการวิจัย





จำนงค์ ศรัณยพิพัฒน์ อนุกรรมการฝ่ายฝึกอบรม 
สมาคมนักวิจัยแห่งประเทศไทย
เรวัติ  น้อยวิจิตร  Hub Admin rewat.noyvijit@hotmail.com  081-9107445

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น