หน้าเว็บ

วันพฤหัสบดีที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2559

สภาวิจัยแห่งชาติ ร่วม จุฬาลงกรณ์ จัดประชุมวิพากษ์ร่าง ประมง IUU และการค้ามนุษย์


          สภาวิจัยแห่งชาติ ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  จัดประชุมวิพากษ์ร่างข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย การแก้ไขปัญหาประมง IUU แรงงานบังคับและการค้ามนุษย์




               วันที่ 28 กันยายน 2559 คณะกรรมการสภาวิจัยแห่งชาติ สาขาสังคมวิทยา ร่วมกับ ศูนย์วิจัยการย้ายถิ่นแห่งเอเชีย สถาบันเอเชีย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศูนย์ยุโรปศึกษาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดการประชุมเสนอร่างข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อส่งเสริมการประมงที่ยั่งยืนและแก้ไขปัญหาประมง IUU แรงงานบังคับและการค้ามนุษย์ ณ ห้อง 105 อาคารมหาจุฬาลงกรณ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดย พลเรือเอกบงสุช  สิงห์ณรงค์ หัวหน้าคณะทำงานภาคประมง ศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการประมงผิดกฎหมาย(ศปมผ.) เป็นประธานเปิดการประชุม เวลา 09.00 น. กล่าวรายงานการจัดประชุมโดย ดร.ใกล้รุ่ง  อามระดิษ รองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการสถาบันเอเชียศึกษา และเวลา 15.00 น. พลเอกฉัตรชัย  สาริกัลป์ยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เข้าร่วมการประชุมและให้ความคิดเห็นต่อที่ประชุม





                 พลเรือเอกบงสุช สิงห์ณรงค์ หัวหน้าคณะทำงานภาคประมง ศปมผ. กล่าวว่า ที่ผ่านมาปัญหาการค้ามนุษย์ในกิจการประมงทะเลและปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและไร้การควบคุม ซึ่งเป็นผลกระทบต่อการค้า เศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคง ของชาติ ซึ่งล้วนแต่เป็นการดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน ได้ถูกกำหนดเป็นวาระแห่งชาติเพื่อปราบปรามกระบวนการค้ามนุษย์  สำหรับด้านการประมงผิดกฎหมายขาดการรายงานและไร้การควบคุม หรือ IUU fishing ทางรัฐบาลได้จัดตั้งศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย หรือ ศปมผ. เพื่อเป็นหน่วยเฉพาะกิจนำโดยกองทัพเรือ และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องหลายฝ่ายเพื่อศึกษาแนวทางและกำหนดยุทธศาสตร์แก้ไขปัญหาที่เป็นสาเหตุหลักอันเสี่ยงต่อการถูกระงับการส่งออกสินค้าอาหารทะเลกับกลุ่มสหภาพยุโรป จากความพยายามและความมุ่งมั่นในการแก้ปัญหาของทุกฝ่าย ประมงไทยถือเป็นผลสำเร็จก้าวแรกที่เห็นว่าปัญหาการค้ามนุษย์ในไทยได้รับการแก้ไขให้ดีขั้นเป็นบางส่วน และต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องเพื่อความยั่งยืนของภาคประมงทะเลของประเทศไทยในภูมิภาคอาเซียน ตลอดจนการขจัดการค้ามนุษย์และแรงงานบังคับในภาคประมงทะเล ให้แรงงานได้รับความคุ้มครองสิทธิตามมาตรฐานให้เป็นที่ยอมรับ ทั้งแรงงานไทยและแรงงานต่างด้าวตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติข้อ 10 ว่าด้วยการอำนวยความสะดวกให้เกิดการย้ายถิ่นที่เป็นปกติและปลอดภัย และข้อ 14 ว่าด้วยชีวิตใต้ผืนน้ำ และการแก้ปัญาการทำประมงที่ผิดกฎหมายทำลายล้างจนไม่สามารถดำรงความยั่งยืนไว้ได้ตลอดจนการทำให้ผู้ประกอบการรายย่อยสามารถเข้าถึงทรัพยากรทางน้ำได้





                 พลเอกฉัตรชัย  การิกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ประเด็นการประมงผิดกฎหมายขาดการรายงานและไร้การควบคุม IUU สำหรับบ้านเราถือเป็นเรื่องใหม่ แต่ก็สามารถดำเนินการแก้ไขได้รวดเร็วมาก ในการออกกระราชกำหนดการประมงได้ภายใน 9 เดือน ด้วยเวลาอันจำกัดในเรื่องที่มีความลึกซึ้งละเอียดอ่อน จะต้องดำเนินการให้รัดกุม โดยอาศัยข้อมูลทางวิชาการและการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทางภาคส่วนต่างๆ กรณีเร่งด่วนได้มีการคัดแยก เช่น ให้ความสำคัญสูงกับการประมงพื้นบ้านเนื่องจากส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตประจำวันของประชาชน และการประมงเพื่อการพาณิชย์ ที่สร้างความมั่นคง มั่งคั่ง เพิ่มขีดความสามารถ สร้างเศรษฐกิจและรายได้ให้กับประเทศ โดยมีการพูดคุย เจรจากันอย่างลึกซึ้ง บางมิติต้องดำเนินการด้วยข้อตกลง MOU การดำเนินการนี้ไม่ได้มุ่งเน้นเพื่อให้ได้ใบเขียวของการจัดลำดับการทำประมงผิดกฎหมายขาดการรายงานและไร้การควบคุม IUU แต่มุ่งเน้นเพื่อให้เกิดการประมงที่ยั่งยืน เรื่องความมั่นคงทางด้านอาหารก็เป็นเรื่องสำคัญ จากข้อมูลแนวโน้มอีก 20 ปี เราจะประสบปัญหาเรื่องอาหาร 





                   ดังนั้น งานส่งเสริมการประมงที่ยั่งยืน และแก้ไขปัญหา IUU แรงงานบังคับและการค้ามนุษย์มีความสำเร็จก็จะส่งผลดีด้านการแก้ไขปัญหาเรื่องอาหารได้ เนื่องจากมีข้อจำกัดในเรื่องการดำเนินการที่เร่งด่วนอย่างเข้มแข็งจะต้องอาศัยตัวกฎหมายเป็นสิ่งสำคัญที่หน่วยงานที่รับผิดชอบหลักร่วมกันต้องปฏิบัติตามและเป็นพื้นฐานในการดำเนินงานอย่างเป็นระบบต้องร่วมกันทั้งหน่วยงานราชการและเอกชน โดยนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วย และมีเครื่องมือ ระบบ ที่ทันสมัยและมีความแม่นยำในการบันทึกและการรายงาน เช่น เรื่องการตรวจสอบย้อนกลับ การขึ้นทะเบียน และออกใบรับรองอนุญาต เป็นต้น รัฐบาลเห็นความตั้งใจในการแก้ไขปัญหาของทุกภาคส่วน แต่ยังประสบปัญหาเรื่องข้อมูลข่าวสาร และการเข้าใจที่ตรงกัน ของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง สิ่งเหล่านี้ถือเป็นอุปสรรคในการทำงานและส่งผลต่อความสำเร็จในการแก้ไขปัญหา IUU ซึ่งถือว่าการสื่อสารเป็นเรื่องสำคัญมาก  และขอบคุณทุกคน และทุกหน่วยงานที่ร่วมกันให้ข้อคิดเห็น เพื่อให้ร่างข้อเสนอแนะฯ มีความสมบูรณ์ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อรัฐบาลและจะนำไปพิจารณา เพื่อประกอบการดำเนินงานในเรื่องนี้ต่อไป





                  ศาสตราจารย์ ดร.เผดิมศักดิ์  จารยะพันธุ์ ที่ปรึกษาคณะทำงานจัดทำร่างข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อส่งเสริมการประมงที่ยั่งยืนและแก้ไขปัญหาประมง IUU นำเสนอข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาในประเด็นที่สำคัญของการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม ต่อที่ประชุมว่า คณะทำงานวิจัยฯ ได้ทำการวิเคราะห์และสรุปปัญหาในประเด็นที่สำคัญของการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม โดยอ้างอิงจากแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาประมง IUU ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  อันได้แก่ ประเด็นที่ 1. การปรับปรุงระบบการตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) ประเด็นที่ 2. การเพิ่มประสิทธิภาพของการจดทะเบียนเรือประมงและการออกใบอนุญาตทำการประมง ประเด็นที่ 3. การเพิ่มประสิทธิภาพของการควบคุมและเฝ้าระวังการทำประมล และระบบติดตามตำแหน่งเรือ (VMS) และประเด็นที่ 4. การปรับปรุงพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 กฎหมายอื่น และกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง โดยนำเสนอจุดอ่อนที่ควรปรับปรุงและข้อเสนอแนะเพื่อพัฒนาปรับปรุง ในแต่ละประเด็นต่อที่ประชุม จากนั้นเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมประชุมได้ร่วมแสดงความคิดเห็นต่อร่างข้อเสนอแนะฯ เพื่อนำข้อคิดเห็นจากที่ประชุมนำไปปรับปรุงร่างข้อเสนอแนะเชิงนโยบายต่อไป





                ด้าน ศ.ดร.สุภางค์  จันทวานิช กรรมการสภาวิจัยแห่งชาติ สาขาสังคมวิทยา วช. และที่ปรึกษาคณะทำงานจัดทำร่างข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อส่งเสริมการประมงที่ยั่งยืนต่อประเด็นแก้ไขปัญหาประมง IUU ได้นำเสนอข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาแรงงานบังคับและการค้ามนุษย์ในกิจการประมงทะเล ต่อที่ประชุมว่า ทางคณะทำงานฯ ได้วิเคราะห์และสรุปประเด็นปัญหาและเสนอแนะต่อผู้กำหนดนโยบายเพื่อให้เกิดการพัฒนาประมงทะเลไทยที่ยั่งยืนบนพื้นฐานของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ และเน้นการกำหนดบทบาทที่เหมาะสมของประเทศไทยในภูมิภาคและประชาคมโลก ผลการศึกษาและวิเคราะห์สรุปข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย 4 ข้อ ได้แก่ 1.การพัฒนาปรับปรุงระบบการจ้างแรงงานประมงทะเล      2.การตรวจแรงงานประมงทะเล และการสังเกตการณ์บนเรือเพื่อค้นหาแรงงานบังคับและเหยื่อค้ามนุษย์ 3. การคุ้มครองแรงงานประมงทะเล และ 4. การคัดแยกแรงงานประมงที่เป็นเหยื่อค้ามนุษย์และการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมโดยนำเสนอจุดอ่อนที่ควรได้รับการปรับปรุง และข้อเสนอแนะเพื่อพัฒนาปรับปรุงต่อไป ในแต่ละข้อต่อที่ประชุม จากนั้นเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมประชุมได้ร่วมแสดงความคิดเห็นต่อร่างข้อเสนอแนะ เพื่อนำข้อคิดเห็นจากที่ประชุมนำไปปรับปรุงร่างข้อเสนอแนะต่อไป






                     ทั้งนี้ในการประชุมนำเสนอข้อเสนอแนะดังกล่าว มีผู้เข้าร่วมประชุมซึ่งประกอบด้วย อธิบดีกรมประมง ผู้อำนวยการมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (LPN) ประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย แรงงานประมง ผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมการจัดหารงาน กรมเจ้าท่า กรมสวัสดิการคุ้มครองแรงงาน สมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย องค์กรแรงงานระหว่างประเทศ และนักวิจัย นักวิชาการ ประชาชน และสื่อมวลชน จำนวน 100 คน



นางสาวอนงค์วดี จีระบุตร สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ
 เรวัติ น้อยวิจิตร   hub admin rewat.noyvijit@hotmail.com  08-1910-7445

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น