หน้าเว็บ

วันศุกร์ที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

พลเรือเอก บงสุช สิงห์ณรงค์ จัดประชุม แก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ และ IUU ประมงทะเล



สภาวิจัยแห่งชาติ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดประชุม แก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ และ IUU ในกิจการประมงทะเลอย่างยั่งยืน  
 




คณะกรรมการสภาวิจัยแห่งชาติ สาขาสังคมวิทยา สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมกับ ศูนย์วิจัยการย้ายถิ่นแห่งเอเชีย สถาบันเอเชีย ศูนย์ศึกษายุโรปแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.) จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “พัฒนานโยบายการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ และ IUU ในกิจการประมงทะเลอย่างยั่งยืน” วันที่ ๑๕ กรกฎาคม ๒๕๕๙ ณ ห้อง ๑๐๕ อาคารมหาจุฬาลงกรณ์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยพลเรือเอก บงสุช สิงห์ณรงค์ เป็นประธานเปิดการประชุม เวลา ๐๙.๐๐ น.  






จากปัญหาในการต่อต้านการค้ามนุษย์ที่ทำให้ประเทศไทยถูกจัดอันดับในเรื่องความพยายามในการต่อต้านการค้ามนุษย์อยู่ในระดับค่อนข้างต่ำ โดยมีสาเหตุหนึ่งมาจากการใช้แรงงานบังคับในกิจการประมงทะเล ประกอบกับการที่สหภาพยุโรปยังไม่เปลี่ยนการให้ใบเหลือง เนื่องจากการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและไร้การควบคุม (IUU: Illegal, unreported and unregulated fishing) ของประเทศไทยเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่าปัญหาเรื่องการค้ามนุษย์และ IUU ของประเทศไทยยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาให้ลุล่วงไปได้แม้จะมีคำสั่งจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ให้จัดตั้งศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.) โดยขึ้นตรงกับนายกรัฐมนตรีร่วมกับศูนย์ประสานการปฏิบัติในการรักษาผลประโยชน์ชาติทางทะเล (ศรชล.) ซึ่งประกอบด้วย กรมประมง กรมเจ้าท่า กระทรวงแรงงาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว 






คณะกรรมการสภาวิจัยแห่งชาติ สาขาสังคมวิทยา ได้ร่วมกับศูนย์วิจัยการย้ายถิ่นแห่งเอเชีย ศูนย์ศึกษายุโรปแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.) จัดโครงการประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “พัฒนานโยบายการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ และ IUU ในกิจการประมงทะเลอย่างยั่งยืน”ขึ้น เพื่อระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับอุปสรรคและข้อจำกัดในการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ และ IUU ที่ผ่านมา และสังเคราะห์ข้อค้นพบจากการวิจัยเกี่ยวกับการค้ามนุษย์และ IUU ในกิจการประมงทะเล ที่ภาครัฐ ภาควิชาการ ภาคประชาสังคม และสื่อมวลชนทั้งในและต่างประเทศ ได้ค้นพบและนำมาประกอบการพิจารณาถึงปัญหาที่เกิดขึ้น พร้อมทั้งร่วมกันพัฒนาข้อเสนอแนะเพื่อแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์และ IUU ในกิจการประมงทะเลและกิจการต่อเนื่องประมงทะเลอย่างยั่งยืน โดยมีผู้เกี่ยวข้องจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนผู้สนใจเข้าร่วมการประชุม จำนวนกว่า ๑๐๐ คน






นางสาวอนงค์วดี จีระบุตร สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ   เรวัติ น้อยวิจิตร   hub admin rewat.noyvijit@hotmail.com  08-1910-7445

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น