หน้าเว็บ

วันศุกร์ที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

นวัตกรรมต่อยอดสร้างพลังงานสะอาด


     
          นักวิจัยประสบผลสำเร็จในการพัฒนาต่อยอดลูกหมุนระบายอากาศฯ สร้างพลังงานสะอาด ลดค่าใช้จ่าย ประยุกต์ใช้ได้ทั้งครัวเรือน และอุตสาหกรรม

   



          ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เอกกมล บุญยะผลานันท์ หัวหน้าโครงการวิจัย "ลูกหมุนระบายอากาศผลิตกระแสไฟฟ้า" แห่งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ กล่าวว่า ลูกหมุนระบายอากาศ ที่ใช้กันทั่วไปจะระบายอากาศได้ จากลมธรรมชาติเท่านั้น แต่ลูกหมุนระบายอากาศผลิตกระแสไฟฟ้า New Energy Ventilator (NEV) ที่พัฒนาขึ้นนี้สามารถสะสมพลังงานจากลมธรรมชาติเก็บไว้ในแบตเตอรี่ ทำให้ลูกหมุนระบายอากาศฯ ใช้งานได้ตลอดเวลา แม้ไม่มีลม โดยใช้ไฟจากแบตเตอรี่แทน
   




           ความสำเร็จดังกล่าวเริ่มจากลูกหมุนฯ ได้รับรางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้นฯ จาก สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ หรือ วช. และได้รับการสนับสนุนให้พัฒนาต่อยอด ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น หลังติดตั้งใช้งานใน โครงการตามแนวพระราชดำริฯ ที่อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ
 


               จากนั้นคณะผู้วิจัย ได้พัฒนากล่องควบคุมการทำงาน และการใช้ร่วมกับเซลล์แสงอาทิตย์ โดยได้ติดตั้งใช้งานใน ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งเป็นหน่วยงานสนองแนวพระราชดำริ โดยประยุกต์ใช้พลังงานให้มีแสงสว่างบริเวณอาคารเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ไฟส่องป้าย รวมทั้งออกแบบลูกหมุนให้สร้างพลังงาน เพื่อให้แสงสว่างตามแนวถนน โดยทำเป็นระบบทดแทนกันได้ กรณีพลังงานไม่พอ จึงช่วยประหยัดค่าไฟฟ้าได้คืนละ 25 บาท ต่อหลอดไฟ 35 ดวง ขณะที่ลูกหมุน 1 ตัว สามารถระบายความร้อนได้ 45 ตารางเมตร ซึ่งสิ่งประดิษฐ์ลูกหมุนฯ นี้ได้รับรางวัลต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ พร้อมทั้งขึ้นบัญชีผลงานนวัตกรรมไทย จากสำนักงบประมาณ และขึ้นบัญชีสิ่งประดิษฐ์ไทย จาก วช.
 


 
               นายระพี บุญบุตร นักวิจัยร่วมภาคเอกชน  กล่าวว่า นวัตกรรมลูกหมุนระบายอากาศฯ 1 ชุด ประกอบด้วยลูกหมุน แบตเตอรี่ และโซล่าเซลล์ รวมแล้วลงทุนประมาณ 18,000 บาท ซึ่งลูกหมุนฯ นี้เปรียบเสมือน กังหันลมผลิตกระแสไฟฟ้าอยู่บนหลังคา แล้วยังสามารถระบายอากาศได้ด้วย การติดตั้งก็ง่าย ใช้ได้ทั้งบ้านเรือนทั่วไป โรงงานอุตสาหกรรม ตลอดจนพื้นที่ที่ไม่มีไฟฟ้าใช้ ซึ่งในอนาคตวางแผนจะประยุกต์ใช้งานกับสถานประกอบการที่ร่วมโครงการอนุรักษ์พลังงาน และในแหล่งธุรกันดาร เนื่องจาก เป็นนวัตกรรมพลังงานสะอาด และใช้ใน กรณีฉุกเฉินเมื่อเกิดอุทกภัย วาตภัยได้ ลดค่าใช้จ่ายและลดมลภาวะจากความร้อน






               ด้านนายธเนศ พุ่มทอง ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งประจวบคีรีขันธ์ กล่าวถึงความเป็นมาของศูนย์ฯ แห่งนี้ และการทำงานที่เกี่ยวข้องกับการสนองพระราชดำริ โดยเฉพาะปลานวลจันทร์ทะเล จนประสบผลสำเร็จ รวมถึงประเด็นเรื่องพลังงานจากลูกหมุนฯ ที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับการทำงานของศูนย์



 


จำนงค์ ศรัณยพิพัฒน์  ผู้สื่อข่าวอาวุโส
เรวัติ น้อยวิจิตร Hub Admin rewat.noyvijit@hotmail.com 081-9107445

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น