หน้าเว็บ

วันอังคารที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

วช.มุ่งขยายผลธนาคารปูม้า 500 ชุมชน



              เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ มั่นใจขยายผลธนาคารปูม้า 500 ชุมชน ภายใน 2 ปี พร้อมเปิดกว้างให้นักวิจัยร่วมถ่ายทอดองค์ความรู้การเพาะเลี้ยงปูม้าสู่ชุมชนชายฝั่งทะเลไทย





              ศาสตราจารย์นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ กล่าวถึงความคืบหน้ากิจกรรมธนาคารปูม้า ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติให้สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ หรือ วช.เป็นหน่วยงานหลักในการบูรณาการงานวิจัยร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อขับเคลื่อนขยายผล ว่า วช.ได้ตั้งคณะทำงานขยายผลธนาคารปูม้า โดยมีนางสาวสุกัญญา ธีระกูรณ์เลิศ เป็นประธาน โดยเปิดตัวครั้งแรกที่ชายฝั่งทะเล จังหวัดตรัง ซึ่งก่อนหน้านี้ วช.ได้นำร่องต่อยอดองค์ความรู้ธนาคารปูม้าบริเวณชุมชนชายฝั่งทะเล จังหวัดจันทบุรี และเพชรบุรี มาแล้ว เพื่อให้ลูกปูม้ามีอัตรารอดมากขึ้น เนื่องจากผลผลิตปูม้ามีจำนวนลดลงอย่างต่อเนื่อง การเพิ่มจำนวนลูกปูม้าในธรรมชาติด้วยวิธีการของธนาคารปูม้า จะช่วยฟื้นฟูปูม้าในทะเลไทยอย่างได้ผล




               ธนาคารปูม้า เป็นวิธีการเพาะเลี้ยงปูม้าไว้ในกระชัง ถัง หรือตามรูปแบบที่เหมาะสมกับพื้นที่ในชุมชนชายฝั่งนั้น ๆ เพื่อให้ปูม้ามีโอกาสฟักไข่ และให้ปูม้าเขี่ยไข่นอกกระดองเอง หรือ จะใช้วิธีให้ทีมนักวิจัยช่วยเขี่ยไขออกจากกระดองปูม้า เมื่อไข่พัฒนาเป็นตัวอ่อนแล้วจึงปล่อยลงสู่ทะเล ซึ่งจะต้องอาศัยองค์ความรู้จากนักวิจัยในการพัฒนาต่อยอดรูปแบบธนาคารปูม้าให้เหมาะสมกับพื้นที่ ขณะนี้ วช.เปิดกว้างให้นักวิจัยร่วมถ่ายทอดองค์ความรู้การเพาะเลี้ยงปูม้าในพื้นที่ต่าง ๆ  โดย วช.ดูแลเรื่องการให้องค์ความรู้ นักวิจัยทำร่วมกับชาวประมง ชุมชนทั้งที่เคยทำและยังไม่เคยทำ รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเพิ่มอัตรารอดของลูกปูม้า จนถึงขณะนี้ชุมชนชายฝั่งทะเลเริ่มเข้าใจและสนใจร่วมโครงการธนาคารปูม้าแล้วกว่า 200 ชุมชน จึงมั่นใจจะดำเนินการสำเร็จตามเป้าหมาย 500 ชุมชน ภายใน 2 ปี แต่ทั้งนี้ความยั่งยืนของธนาคารปูม้า อยู่ที่ความร่วมมือและการมีส่วนร่วมของชุมชนในพื้นที่ โดยมีจุดหมายเดียวกันในการอนุรักษ์และเพิ่มจำนวนปูม้า โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสนับสนุน





              เลขาธิการ วช. กล่าวว่า ธนาคารปูม้า เป็นกิจกรรมฟื้นฟูทรัพยากรปูม้าในทะเลไทยด้วยวิธีการง่าย ๆ แต่เกิดประโยชน์อย่างยิ่งกับเศรษฐกิจประมงปูม้า ขณะเดียวกัน ยังเป็นการสร้างกิจกรรมปลุกจิตสำนึก สร้างประโยชน์ สร้างแหล่งเรียนรู้ สร้างการท่องเที่ยว และสร้างรายได้ให้ชุมชนอีกด้วย ดังตัวอย่างที่ตำบลแหลมผักเบี้ย อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี ที่ประสบผลสำเร็จหลังจากดำเนินกิจกรรมธนาคารปูม้า ทำให้ชุมชนชาวประมงที่เคยมีรายได้จากการจับปูม้า 200-300 บาทต่อวัน ปัจจุบันสามารถสร้างรายได้เป็น 3,000 - 4,000 บาทต่อวัน ส่งผลให้ชาวบ้านไม่ต้องเลิกอาชีพประมง ไม่ต้องออกเรือไปไกลเพื่อหาปู ทำให้ชุมชนเข้มแข็งและมีคุณภาพชีวิตที่ดี อีกทั้งเกิดประโยชน์ต่อทรัพยากรทางทะเลและความสมดุลของระบบนิเวศทางทะเล ซึ่ง วช.เตรียมลงพื้นที่ชายฝั่งทะเล จังหวัดสุราษฎร์ธานี เปิดตัวขยายผลธนาคารปูม้า ระหว่างวันที่ 13-14 กรกฎาคมนี้ ต่อไป





จำนงค์ ศรัณยพิพัฒน์  ผู้สื่อข่าวอาวุโส
เรวัติ  น้อยวิจิตร  Hub Admin rewat.noyvijit@hotmail.com  081-9107445

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น