หน้าเว็บ

วันอาทิตย์ที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2559

สุพรรณบุรี โครงการ “ จิตอาสาประชาร่วมใจ กำจัดผักตบชวาทั่วไทย ในวันสิ่งแวดล้อมไทย ”




           วันนี้(4 ธ.ค.59) ที่บริเวณประตูระบายน้ำบางแม่หม้าย ตำบลบางใหญ่ อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี ว่าที่ร้อยตรีสุพีร์พัฒน์ จองพานิช ผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี เป็นประธานกล่าวเปิดโครงการ “จิตอาสาประชาร่วมใจ กำจัดผักตบชวาทั่วไทย ในวันสิ่งแวดล้อมไทย” ว่า เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมนับวันยิ่งสะสมและเกิดเป็นปัญหาเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเรื่องของทรัพยากรป่าไม้ที่ลดลง ปัญหาการกำจัดขยะมูลฝอย ปัญหาน้ำเน่าเสียจากโรงงานอุตสาหกรรม ฯลฯ







             ปัญหาต่างๆเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อสภาวะสิ่งแวดล้อมและความเป็นอยู่อย่างปกติสุขของประชาชน ซึ่งผักตบชวาเป็นปัญหาที่รัฐบาลให้ความสำคัญอย่างมากเนื่องจากเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วและหนาแน่น ทำให้แหล่งน้ำ คู คลองต่างๆ เกิดน้ำเน่าเสีย มีปัญหาเรื่องการระบายและการสัญจรทางน้ำ ซึ่งจังหวัดสุพรรณบุรี มีวิธีกำจัดผักตบชวา ภายใต้แนวคิด “ผักตบชวาคือทรัพย์สิน”  ด้วยการนำผักตบชวามาใช้ในการเกษตร อุตสาหกรรมครัวเรือนและด้านพลังงาน เพื่อให้ทุกภาคส่วนร่วมกันแก้ปัญหาผักตบชวาอย่างจริงจังและเห็นผลเป็นรูปธรรม






              ด้านนายวีรวุฒิ  ประวัติ โยธาธิการและผังเมืองสุพรรณบุรี กล่าวเพิ่มเติมว่า สืบเนื่องมาจากกระทรวงมหาดไทยได้รับมอบหมายจากรัฐบาล ให้เป็นหน่วยงานหลักรับผิดชอบการแก้ไขผักตบชวา ภายในกรอบเวลาช่วงปราบปราม ระยะเวลา 6 เดือน ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2559 ถึงมีนาคม 2560 และคณะรัฐมนตรี ได้มีมติเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2534 ให้วันที่ 4 ธันวาคม ของทุกปี เป็น “วันสิ่งแวดล้อมไทย” อันเนื่องมาจากกระแสพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้ทรงพระราชทานแก่คณะบุคคลต่างๆ ที่เข้าเฝ้าถวายพระพร เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา วันที่ 4 ธันวาคม 2532 อันมีใจความที่ได้แสดงความห่วงใยต่อพสกนิกรชาวไทย และให้ความสำคัญในปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้น







                โดยขอให้ทุกคนร่วมมือกันแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง ด้วยความสุขุมรอบคอบ โดยให้ถือเป็นหน้าที่ของทุกคนที่จะต้องปฏิบัติ มิใช่เพียงเพื่อประเทศไทยเท่านั้น หากเพื่อความอยู่รอดปลอดภัยในอนาคตของโลกด้วย  ทั้งนี้ จึงน้อมนำกระแสพระราชดำรัสมาปฏิบัติในการแก้ไขปัญหาของผักตบชวา เพราะผักตบชวา เป็นวัชพืชที่มีการขยายพันธุ์อย่างรวดเร็วทั้งทางเมล็ดและการแตกหน่อ จึงทำให้มีการแพร่ระบาดอย่างรุนแรง ก่อให้เกิดปัญหาต่อแหล่งน้ำต่างๆ ทั่วประเทศ เกิดปัญหาการกีดขวางการไหล ระบายน้ำตามแม่น้ำลำคลองต่างๆ ในฤดูน้ำหลาก เกิดปัญหาน้ำท่วม ก่อให้เกิดปัญหาน้ำล้นตลิ่ง สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนเป็นอย่างมาก


 








ศูนย์ข่าวท้องถิ่นออนไลน์ รายงาน
เรวัติ น้อยวิจิตร Hub Admin ศูนย์ข่าวท้องถิ่นออนไลน์ 081-9107445

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น