พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงให้ความสนพระราชหฤทัยในกิจการอันเกี่ยวเนื่องกับการชลประทานหรือการพัฒนาแหล่งน้ำเป็นอย่างมาก เพราะทรงตระหนักดีว่า “น้ำ คือชีวิต” พระองค์เคยมีกระแสพระราชดำรัสแก่ผู้ถวายงานใกล้ชิดพระองค์ว่า “ฉันสนใจชลประทานมาตั้งแต่เด็ก” และพระองค์ได้ทรงศึกษาอย่างจริงจัง จนทรงเป็นปราชญ์ในเรื่องน้ำของแผ่นดิน อย่างแท้จริง
ครั้งเมื่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ เสด็จเยี่ยมพสกนิกร และ ทรงพระบรรทมหนึ่งคืน ณ อำเภอสามชุก จังหวัดสุพรรณบุรี วันที่ 20-21 กันยายน พ.ศ. 2498 ทำให้เมืองสามชุกมีระบบชลประทานใช้ เมื่อมีการพัฒนาระบบชลประทานเป็นโครงข่ายอย่างทั่วถึง ทำให้พสกนิกรมีน้ำหล่อเลี่ยงชีวิตและทำการเกษตร และขยายสู่การท่องเที่ยวทั้งทางบกและทางน้ำ จนสามชุกได้กลายเป็นเมืองศูนย์กลางการค้าพืชผลทางการเกษตร เพราะสามชุกเป็นเมืองที่อยู่ทางด้านเหนือของจังหวัดสุพรรณบุรี มีแม่น้ำสุพรรณบุรีหรือแม่น้ำท่าจีนไหลผ่านเป็นลำน้ำสายหลักของท้องถิ่น พื้นดินมีความอุดมสมบูรณ์สูง เหมาะแก่การเพาะปลูก และยังแวดล้อมด้วยพื้นที่ราบลุ่มแบบหนองบึง จนถือเป็นพื้นที่การเกษตรที่สำคัญของสุพรรณบุรีแห่งหนึ่ง
คุณยายเกษร บัวปรอด หรือคุณยายต๋อย อายุ 73 ปี ชาวบ้านบ้านสะพานขาว อำเภอสามชุกจังหวัดสุพรรณบุรี เล่าว่า ราวๆ พ.ศ.๒๔๗๕ ขณะนั้นยังไม่มีกิจกาลชลประทาน จึงได้มีการสร้างประตูระบายน้ำเพื่อกักน้ำและช่วยในการทดน้ำและส่งน้ำเพื่อการชลประทานให้แก่ประชาชนในพื้นที่ ซึ่งใช้เวลาก่อสร้างนานหลายปี จนกระทั่งแล้วเสร็จ เมื่อวันที่ 20 – 21 กันยายน 2498 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดเขื่อนชลมารคพิจารณ์ ที่ อ.สามชุก เสด็จเยี่ยมพสกนิกร และ ทรงพระบรรทมหนึ่งคืน บริเวณเกาะกลางของประตูระบายน้ำ อำเภอสามชุก จังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งเป็นที่ทำการชลประทานสามชุกในปัจจุบัน โดยในวันนั้นตนได้เฝ้ารับเสด็จด้วย พระองค์ใช้พระหัตถ์ จับศีรษะ แล้วก็บอกว่าให้ตั้งใจเรียน ขยัน ให้ช่วยพ่อแม่ทำงาน ยังความปลาบปลื้มใจอย่างหาที่สุดมิได้ ยังจำภาพติดตามาจนถึงทุกวันนี้ โดยในครั้งนั้น มีประชาชนเฝ้ารับเสด็จเต็มสองฝั่งแม่น้ำท่าจีนเป็นจำนวนมาก
คุณยายเกษร กล่าวต่อด้วยความตื้นตันใจว่า ตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถเสด็จมาในครั้งนั้น นำความเจริญร่มเย็นเป็นสุขมาด้วย พระองค์ได้ให้รถแทรกเตอร์มาเกรดและไถป่าลำเจียกจนบริเวณริมแม่น้ำท่าจีน ของบ้านสะพานขาว ราบเรียบ ทำให้ชาวบ้านมีที่ดินทำมาหากิน นอกจากนี้ยังได้ปฏิรูปที่ดินคือการทำนาแบบจัดรูปที่ดิน การก่อตั้งโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาน้ำสามชุก สำนักชลประทานที่ 12 และก่อตั้งสถานีทดลองการใช้น้ำชลประทานที่ 4 (สามชุก) กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งเป็นสถานีทดลองการปลูกพืชพันธุ์ดีไว้สำหรับแจกจ่ายพันธุ์ให้กับเกษตรกร ตรงนี้เป็นประโยชน์มาก ชาวบ้านมีที่ดินทำกิน ลูกหลานชาวบ้านสะพานขาว ได้เรียนต่อสูงๆ บางคนได้เข้าทำงานในแปลงทดลอง และที่โครงการส่งน้ำฯ นับว่าตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมาชาวสุพรรณก็ได้ทำนาอย่างอุดมสมบูรณ์อย่างต่อเนื่อง
การพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเพาะปลูกหรือการชลประทาน นับว่าเป็นงานที่มีความสำคัญและเป็นประโยชน์อย่างมาก สำหรับประชาชน เพราะช่วยให้เกษตรกรได้ทำนา เพาะปลูกได้อย่างสมบูรณ์ และในปัจจุบันสามชุกได้ถูกพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ เพราะมีตลาดเก่าริมน้ำสุพรรณบุรี และมีเส้นทางคมนาคมทางน้ำที่เปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวได้ล่องเรือตั้งแต่ตลาดสามชุกจนถึงเขื่อนชลมารคพิจารณ์ เพื่อชมความงดงามย้อนรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ทรงพระราชทานน้ำแก่ชาวสุพรรณ นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างมิรู้ลืมของชาวสามชุก
เกรียงไกร ก่อเกียรติตระกูล บรรณาธิการ อู่ทองนิวส์ ข่าว
เรวัติ น้อยวิจิตร นสพ.พลังชน rewat.noyvijit@hotmail.com 081-9107445
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น