หน้าเว็บ

วันอังคารที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

สุโขทัย หมู่บ้านนาต้นจั่น ต้นแบบหมู่บ้านอุตสาหกรรมชนบทเพื่อการท่องเที่ยว


        สัมผัสวิถีธรรมชาติ ภูมิปัญญาดั้งเดิม เติมเต็มด้วยองค์ความรู้  ความสำเร็จของงานวิจัยบนรากฐานของชุมชน  ณ หมู่บ้านนาต้นจั่น อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย  ต้นแบบหมู่บ้านอุตสาหกรรมชนบทเพื่อการท่องเที่ยว

ข้าวเปิ๊บ ผ้าหมักโคลน หัตถกรรมจากรากไม้ ตุ๊กตาบาร์โหน ดนตรีและการละเล่นพื้นบ้าน โฮมสเตย์...ฯลฯ เหล่านี้คือภูมิปัญญา ศิลปะ วัฒนธรรมของชุมชนหมู่บ้านนาต้นจั่น อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย ที่ได้รับการอนุรักษ์ ฟื้นฟู ส่งเสริม พัฒนา ตามโครงการอนุรักษ์ สืบสานและพัฒนางานทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม ของสถานอารยธรรมศึกษา โขง-สาละวิน มหาวิทยาลัยนเรศวร นำโดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วศิน ปัญญาวุธตระกูล ผู้อำนวยการ ตั้งแต่ปีพ.ศ.๒๕๔๗ เป็นต้นมา ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานสนับสนุนการวิจัย โดยนำทุนทางวัฒนธรรมผสมผสานองค์ความรู้จากรากฐานของชุมชน และการบริหารจัดการแบบชุมชนมีส่วนร่วม กลายเป็นหมู่บ้านอุตสาหกรรมชนบทเพื่อการท่องเที่ยว



“การพัฒนาชุมชนบ้านนาต้นจั่นเป็นส่วนหนึ่งของการวิจัยโครงการพัฒนาเส้นทางการท่องเที่ยวระเบียงวัฒนธรรมตะวันตก – ตะวันออก การพัฒนาหมู่บ้านนาต้นจั่นนั้นเป็นกรณีศึกษาตัวอย่างโดยมีเป้าหมายเพื่อให้เกิดเส้นทางการพักในบริเวณโดยรอบพื้นที่มรดกโลก ดังนั้นในกระบวนการวิจัยจึงดำเนินการตั้งแต่การวางแผนพัฒนาชุมชนร่วมกับคนในชุมชน จัดทำหมู่บ้านโฮมสเตย์ จัดทำเส้นทางท่องเที่ยวและถอดบทเรียน ถอดประสบการณ์ต่าง ๆ ตลอดจนการจัดทำแฟมทริป ในการนำนักเที่ยวเข้ามาศึกษาดูงาน”

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วศิน ปัญญาวุธตระกูล เล่าถึงกระบวนการพัฒนาหมู่บ้านนาต้นจั่นว่า  
“เมื่อค้นพบว่า หมู่บ้านนาต้นจั่นมีทุนทางวัฒนธรรมที่คลอบคลุมมิติปัจจัย ๔ อยู่แล้ว จึงเริ่มกระบวนการพัฒนาโดยปลุกให้คนในชุมชนเชื่อมั่นในตัวเองก่อน เห็นของดีของตัวเองก่อน คอยให้คำปรึกษา แนะนำแล้วนำไปสู่การต่อยอด สร้างเครือข่ายพันธมิตร หาผู้สนับสนุน ทั้งในด้านวิชาการ เงินทุนจากภาครัฐและเอกชน”
          คุณป้าเสงี่ยม แสวงลาภ ประธานกลุ่มทอผ้าและประธานกลุ่มโฮมสเตย์ บ้านนาต้นจั่น ผู้เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญในการรวมพลังของชุมชน เล่าถึงตัวตนของหมู่บ้านนาต้นจั่น
            “บ้านนาต้นจั่นมีทั้งหมด ๓๗๐ ครัวเรือน ประกอบอาชีพทำสวน ทำนา ทำไร่ อาชีพเสริมคือทอผ้า ต่อมาเราได้รับการสนับสนุนจากหลายหน่วยงาน เช่น สำนักงานพัฒนาชุมชน สำนักงานกีฬาและท่องเที่ยว มหาวิทยาลัยนเรศวร เป็นต้น ทำให้เกิดกลุ่มต่าง ๆ ขึ้นมาอีกมากมาย สร้างรายได้และความเข้มแข็งให้ชุมชน”




ผ้าหมักโคลน นิ่ม สบาย ในแบบธรรมชาติ 
            ป้าเสงี่ยมเล่าว่า กระบวนการทำผ้าหมักโคลนเริ่มจากการย้อมเส้นฝ้ายสีขาวให้เป็นสีต่าง ๆ ด้วยวัสดุจากธรรมชาติ เช่น แก่นไม้ ใบไม้ เปลือกไม้ เมล็ด อาทิ ฝางให้สีแดง ทำให้ไม่เป็นพิษต่อผู้บริโภค จากนั้นนำขึ้นกี่ทอผ้า เมื่อได้ผ้าเป็นผืนให้นำมาหมักโคลนไว้ ๑ คืน แล้วนำไปต้มทับสีธรรมชาติอีกครั้ง เพื่อให้ผ้าเลื่อม สวย
            ทำไมต้องนำผ้าไปหมักกับโคลน?...เรื่องนี้ป้าเสงี่ยมให้เหตุผลว่า “การหมักโคลนทำให้ผ้านิ่ม ที่รู้ก็ด้วยความบังเอิญ เพราะสมัยก่อนเวลาปู่ย่าตายายไปไร่ไปนาก็จะนุ่งผ้าถุง ใส่แล้วใส่อีก ลุยโคลนทุกวัน ปรากฏว่าชายผ้าถุงมีความนิ่มมาก แถมมีสีสวยแบบธรรมชาติอีกด้วย ก็เลยจดจำนำมาทำเป็นกระบวนการ จากนั้นก็ได้รับการสนับสนุนให้มีการประยุกต์ แปรรูปจากผ้าผืน นำมาตัดเป็นเสื้อผ้า ผ้าพันคอ กระเป๋า เป็นต้น”
            ปัจจุบันกลุ่มทอผ้าบ้านนาต้นจั่นมีสมาชิกทั้งหมด ๒๐๓ คน มีการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ มีการเลือกตั้งฝ่ายบริหาร โดยบริหารในระบบสหกรณ์ มีฝ่ายการเงิน การบัญชี การตลาด การท่องเที่ยว ครบวงจร

พักผ่อนในโฮมสเตย์
            “เนื่องจากมีโอกาสได้ไปศึกษาดูงานที่ประเทศญี่ปุ่น ตั้งแต่ปี ๒๕๕๗ กลับมาจึงต่อยอดจากกลุ่มทอผ้าเป็นกลุ่มโฮมเสตย์ ทำเรื่องการท่องเที่ยว โดยไปปรึกษาผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วศิน ปัญญาวุธตระกูล ท่านก็นำเรื่องไปเสนอกับทางผู้ใหญ่ ให้เห็นว่าหมู่บ้านเรามีศักยภาพ มีความเข้มแข็ง จึงเกิดเป็นโฮมเสตย์ขึ้นในหมู่บ้านนาต้นจั่น จนมีชื่อเสียงโด่งดังในเรื่องของการท่องเที่ยว ภูมิปัญญา และกิจกรรมทุกอย่าง
            วันนี้หมู่บ้านนาต้นจั่นเป็นที่รู้จัก มีชื่อเสียง เป็นจุดสนใจของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติที่แวะเวียนเข้ามาอย่างไม่ขาดสาย เป็น ๑ ใน ๒ ของหมู่บ้านโฮมสเตย์ในประเทศไทย ที่ได้รับรางวัล PATA Gold Awards ผลงานด้านมรดกและวัฒนธรรม จากสมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (Pacific Asia Travel Association -PATA) เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๕
            อย่างไรก็ตาม ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วศิน ปัญญาวุธตระกูลให้ข้อสังเกตว่า “ชุมชนต้องคิดถึงส่วนรวม เพราะการทำท่องเที่ยวชุมชนไม่ใช่แค่เรื่องโฮมเสตย์และแหล่งท่องเที่ยวเท่านั้น แต่มันคือคนในชุมชนทั้งหมด ดังนั้น การให้ชุมชนจัดสรรงบประมาณเป็นกองทุนสำหรับคนในชุมชนจึงเป็นสิ่งจำเป็น สิ่งสำคัญของการทำท่องเที่ยวชุมชนคือ เรื่องของการมีส่วนร่วมและอีกสิ่งหนึ่งที่ชาวบ้านต้องตระหนักก็คือ social protect สังคมจะปกป้องตัวเองอย่างไร ท่ามกลางกระแสของนักท่องเที่ยวที่เข้ามา ตลอดจนความสมดุลระหว่างนักท่องเที่ยวกับวิถีชีวิตของคนในหมู่บ้าน เหล่านี้คือรายละเอียดปลีกย่อยที่ต้องให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง”



ข้าวเปิ๊บ อาหารพื้นถิ่น มรดกจากบรรพบุรุษ
            ข้าวเปิ๊บเป็นภูมิปัญญาอย่างหนึ่ง เป็นอาหารสุขภาพที่ขึ้นชื่อ เพราะใช้วิธีการนึ่ง ที่มาของข้าวเปิ๊บคือ สมัยก่อนบ้านนาต้นจั่นกันดารมาก ไม่มีอะไรกิน ขนมนมเนยไม่มี บรรพบุรุษจึงอาศัยภูมิปัญญา ใช้ข้าวสารข้าวเจ้ามาแช่น้ำ ๓ ชั่วโมง เสร็จแล้วนำมาทำเป็นแป้ง กระบวนการทำคล้ายกับข้าวเหนียวปากหม้อ มีผักห่อแล้วก็นึ่ง มีน้ำซุป ทำให้ลูกหลานกินกัน เวลามีงานอะไรก็ทำกินกัน ต่อมายายคำหล้า แสนเครือ ลองนำมาทำเหมือนก๋วยเตี๋ยวเส้นใหญ่ โดยเก็บตำลึงจากข้างรั้ว ข้าวเปิ๊บนี้ตกทอดมาถึงรุ่นยายคำเครื่องคิดสูตรขึ้นมาแล้วทำขาย ตอนแรก ๆ ขายให้เด็ก ๆ พอผู้ใหญ่มาชิม บรรดาครูบาอาจารย์มาชิมก็ติดใจ จึงนำไปเปิดตัวที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี ก็เป็นที่รู้จัก กลายเป็นข้าวเปิ๊บนาต้นจั่นที่โด่งดังมาก”
            “สาเหตุที่เรียกว่าข้าวเปิ๊บก็เพราะ เวลาสุกเราจะใช้ไม้หลาบพับไปพับมา เพื่อทำให้เป็นก้อนแล้วก็ใส่ชาม คำว่าพับเป็นภาษากลาง ส่วนภาษาเหนือเรียกว่าเปิ๊บ จึงเป็นที่มาของชื่อ ข้าวเปิ๊บ”
            เป็นอันว่า พวกเราได้อิ่มอร่อยกับข้าวเปิ๊บต้นตำรับร้านยายคำเครื่องกันอย่างจุใจ

ตุ๊กตาบาร์โหน ภูมิปัญญา สะท้อนวิถีในอดีต
            ป้าเสงี่ยมพาเราไปที่บ้านตาวงษ์ เสาฝั้น พบกับคุณลุงอุดร เสาฝั้น ผู้สืบทอดการทำตุ๊กตาบาร์โหนมาจากตาวงษ์ผู้เป็นพ่อ ลุงอุดรเล่าเท้าความให้ฟังว่า
            “สมัยก่อนไม่มีนมดื่ม ใครอยากสูงก็ต้องโหนบาร์โดยพระจะทำบาร์ไว้ให้ที่วัด เด็ก ๆ เลิกเรียนก็ไปโหนบาร์กัน มาเดี๋ยวนี้มีนมดื่มไม่ต้องโหนบาร์แล้ว พ่อเลยมาระลึกความหลัง ลองฝึกทำดู ตอนแรกใช้กระดาษ แต่ไม่สำเร็จ จึงเปลี่ยนเป็นไม้ กว่าจะสำเร็จก็ใช้เวลาหลายเดือน พ่อเริ่มทำตั้งแต่อายุประมาณ ๖๐ ตอนนี้อายุ ๘๘ แล้ว”
          “พ่อกลับจากทำไร่ทำนาก็มานั่งทำ ตอนแรกก็ทำเล่นสนุก ๆ เด็ก ๆ ก็ชอบ เริ่มทำขายจนเป็นอาชีพ โดยใช้ไม้สักซึ่งส่วนหนึ่งปลูกเอง บ้างก็ซื้อเศษไม้ที่คนอื่นไม่ใช้แล้ว”
            ลุงอุดรพาเราไปดูไม้สักที่มาเป็นท่อนใหญ่ ๆ จากนั้นนำมาผ่าเป็นฟืน นั่งเหลา ทำเป็นส่วนต่าง ๆ เช่น วันนี้ทำก้านดีด พรุ่งนี้ทำแขน ขา แยกเป็นแบบผู้ชาย ผู้หญิงและเพ้นท์หน้าตาเพื่อความสวยงาม
            “ตุ๊กตาบาร์โหนไม่ใช่แค่เป็นของที่ระลึก ของฝาก หรือเล่นสนุกอย่างเดียวเท่านั้นยังช่วยเรื่องกำลังมือได้ เป็นการบริหารมือ บริหารนิ้ว สำหรับคนที่เป็นนิ้วล็อค มือไม่มีแรง กล้ามเนื้อไม่มีแรง ก็จะช่วยได้ เป็นการออกกำลังกายไปในตัว” ลุงอุดรกล่าวทิ้งท้าย
            หลังจากทดลองเล่นกันจนหนำใจแล้ว เราก็อุดหนุนตุ๊กตาบาร์โหนมา ๑ ตัว

จากตอไม้กลายเป็นเฟอร์นิเจอร์
            เมื่อต้นไม้ที่ปลูกไว้สูงใหญ่จนปกคลุมสวน ชาวบ้านจึงตัดนำไม้มาสร้างบ้าน จนกระทั่งปี พ.ศ.๒๕๔๙ เกิดโคลนถล่มที่ลับแลซึ่งมีอาณาเขตติดต่อกัน ทำให้ตอไม้ต่าง ๆ ไหลทะลักลงมา ชาวบ้านนาต้นจั่นจึงพากันไปขุดแล้วดัดแปลงทำเป็นเฟอร์นิเจอร์ต่าง ๆ จนสามารถตั้งเป็นกลุ่มเฟอร์นิเจอร์จากตอไม้
            “แทนที่เราจะปล่อยให้ตอไม้จมดินไป เราก็นำมาเพิ่มมูลค่า สร้างรายได้ สร้างอาชีพให้คนในหมู่บ้านได้อีก ที่สำคัญตอไม้เหล่านี้เราไม่ได้ไปตัด ไปโค่น มันมีอยู่แล้วตามธรรมชาติ”
            โต๊ะ เก้าอี้ ตั่ง เตียง ชั้นวางของ ชิงช้า...สารพัดรูปแบบให้ผู้ชื่นชอบงานจากไม้ได้เลือกซื้อไว้ติดบ้าน งานฝีมือ ราคาไม่แพง แถมได้อุดหนุนชาวบ้านอีกด้วย



ตะลุยสวนผัก ผลไม้ตามฤดูกาล
          เมื่อป้าเสงี่ยมบอกว่าได้เวลาลุยสวนแล้ว ไม่ต้องอธิบายอะไรมากพวกเราพร้อมถุงคนละใบตรงรี่เข้าไปในสวนมะนาว เดินเก็บเดินเลือกเด็ดมะนาวลูกใหญ่ ๆ แก่ ๆ เอามาชั่งน้ำหนัก กิโลกรัมละสิบกว่าบาทเท่านั้น แล้วแต่ขนาดของผล ถูกมาก แถมน้ำเยอะ รสชาติเปรี้ยวสะใจ (พอมาเยือนครั้งต่อไปแต่ละคนจึงซื้อกลับไปกันเป็นกระสอบ)จากสวนมะนาว ไปต่อยังสวนมะไฟ จะว่าไปเด็กสมัยนี้คงไม่เคยเห็นต้นมะไฟ หรืออาจไม่เคยกินด้วยซ้ำพวกเราตื่นเต้นกับลูกมะไฟอันละลานตา ดกมาก เกาะกลุ่มเกี่ยวทุกกิ่งของต้นให้เราโหนกิ่งก้านเก็บกันอย่างครึกครื้นไม่ลืมเก็บไปฝากคนที่บ้านและที่สำนักงานด้วย
            ถึงฤดูกาลไหน มีผลไม้อะไร ที่บ้านนาต้นจั่นก็มีทุกอย่าง แถมอุดมสมบูรณ์ สด อร่อยอีกต่างหาก ครั้งหลังสุด พวกเราสุดแสนอิ่มเอมเปรมปรีดิ์กับทุเรียนหมอนทองเนื้อแน่น หรือจะเป็นพันธุ์พื้นเมืองเม็ดเล็ก เนื้อน้อย ก็แล้วแต่ชอบ
            รุ่งเช้าเราซ้อนรถมอเตอร์ไซต์ป้าเสงี่ยมมุ่งหน้าไปสวนทุเรียน ซึ่งส่วนใหญ่อยู่บนเขา ต้นทุเรียนรายเรียง ยืนต้น โชว์ผลเล็กบ้างใหญ่บ้าง ระหว่างเดินเจอต้นมะกรูด ป้าเสงี่ยมก็เก็บลูกมะกรูดมาให้เราหอบใหญ่ บอกเอาไว้ไปสระผม ขากลับป้าเสงี่ยมพาแวะสวนเงาะ ที่กำลังออกผลดกเชียว แต่น่าเสียดายยังไม่สุก เราเลยได้แต่ถ่ายรูปมาฝากน้อง ๆ
            ป้าเสงี่ยมบอกว่า มาคราวหน้าได้กินลองกองแน่ เล่นเอาเราวาดฝันไว้ก่อนเลย




สนุกสนานกับดนตรี การแสดงพื้นบ้าน
            “คืนนี้เป็นคืนชอบกล ฉันฝันว่าคนขี่คน ไม่รู้ว่าใครขี่ใคร แต่พอฉันตื่นขึ้นมา ก็เห็นตาขี่ยาย”
            เสียงร้องลิเกก้อมของคุณยาย หลังจากรับประทานอาหารเย็นในรูปแบบขันโตกกับเมนูอาหารพื้นถิ่น เรียกเสียงปรบมือ เสียงหัวเราะ เฮฮาจากผู้มาเยือนลั่นห้องประชุม
            ลิเกก้อม เพลงก้อม หมายถึงการร้องทีละท่อน คิดอะไรมาก็ร้องเป็นท่อน ๆ นำมาขับร้องเป็นเพลงบ้าง ลิเกบ้าง ผสมผสานกับการบรรเลงดนตรีไทย ตามมาด้วยการแสดงทั้งแบบไทยโบราณและไทยประยุกต์ สร้างความสุข สนุกสนานให้กับนักท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี นับเป็นอีกหนึ่งวัฒนธรรมของหมู่บ้านนาต้นจั่น
            “เนื่องจากเรามีหมู่บ้านท่องเที่ยว มีที่พัก มีกิจกรรมมากมายหลายอย่าง เลยคิดว่าน่าจะร่วมกันอนุรักษ์วัฒนธรรมด้านการแสดงของเราด้วย จึงตั้งกลุ่มผู้สูงอายุและกลุ่มเยาวชนขึ้น ของบประมาณมาฝึกด้านดนตรีและการแสดง เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมสะท้อนวีถีของชุมชน”
            งานนี้เราจึงเห็นการแสดงจากผู้สูงอายุ จากเด็กและเยาวชน ตลอดจนการบรรเลงดนตรีไทยแบบเต็มวงอันน่ายกย่องอย่างยิ่ง เพราะมีการผสมผสานระหว่างผู้สูงอายุและเด็ก ดูแล้วจะเป็นเด็กในระดับชั้นประถมศึกษาด้วยซ้ำ ทั้งตีฉิ่ง ตีระนาด ตีฆ้อง สีซอด้วยลีลาคล่องแคล่ว สีหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส
            นี่คือความสุขใจที่หาได้ง่าย ๆ ในบ้านของตัวเอง



บายศรีสู่ขวัญ พิธีแห่งสิริมงคล
            หลังจากความสนุกสนานครื้นเครง ก่อนแยกย้ายกันไปพักในโฮมเสตย์ ป้าเสงี่ยมขอเชิญทุกคนเข้าร่วมพิธีบายศรีสู่ขวัญ
            “คนทางเหนือจะถือกันมากว่า ถ้ามีลูกหลานมาเยี่ยม มาหา ต้องมีการอวยชัยให้พร ผูกข้อมือเพื่อเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต เราจึงจัดพิธีบายศรีสู่ขวัญผูกข้อมือให้กับนักท่องเที่ยว โดยมีหมอชาวบ้านที่สืบทอดมาจากปู่ย่าตายายเป็นผู้อ่านคำอวยพร”
            นักท่องเที่ยว ผู้มาเยือน รวมถึงพวกเราชาวสถานอารยธรรมศึกษา โขง-สาละวิน พากันเข้าแถวรอให้คุณตาคุณยายผูกข้อมือให้ ท่ามกลางเสียงอวยพรแบบภาษาเหนือผสานกับความละเมียดละไมของดนตรีไทย สร้างบรรยากาศอันอบอุ่น อิ่มเอิบยิ่งนัก

พิพิธภัณฑ์ภูมิปัญญาฅนนาต้นจั่น
ทุกวิถี ภูมิปัญญา วัฒนธรรม ได้ถูกรวบรวม ร้อยเรียง เพื่อถ่ายทอด บอกเล่าให้คนรุ่นหลัง ตลอดจนผู้มาเยือนและนักท่องเที่ยวได้รู้จัก เข้าใจ ในเรื่องราวของหมู่บ้านนาต้นจั่น นับแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน โดยความร่วมมือของสถานอารยธรรมศึกษา โขง-สาละวิน มหาวิทยาลัยนเรศวร...ชุมชนในหุบเขา แหล่งอารยธรรมและภูมิปัญญา, จากผืนผ้าซิ่นสู่ผ้าหมักโคลน บนวิถีแห่งท้องนา สู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์งานหัตถกรรมท้องถิ่นผ้าด้นมือ, จากข้าวสารสู่ข้าวเปิ๊บ การค้นหาที่เหนือจินตนาการ, ตุ๊กตาบาร์โหน สิ่งประดิษฐ์จากการละเล่นพื้นบ้าน ชิงช้าสวรรค์ในสวนป่า, ดนตรีพื้นบ้าน เสียงเพลงจากสรวงสวรรค์...ฯลฯ

หมู่บ้านนาต้นจั่นแห่งนี้ยืนหยัดได้ด้วยพลังของชุมชน ที่รัก หวงแหน ภาคภูมิใจในภูมิปัญญา วัฒนธรรมของตน แม้จะได้ชื่อว่าเป็นหมู่บ้านอุตสาหกรรมชนบทเพื่อการท่องเที่ยวอันสมบูรณ์แบบ แต่ยังคงอบอวลด้วยวิถีดั้งเดิมโดยแท้ ในขณะเดียวกันนี่คือความสำเร็จของสถาบันการศึกษา ในนามของสถานอารยธรรมศึกษา โขง-สาละวิน มหาวิทยาลัยนเรศวรที่มุ่งมั่นนำองค์ความรู้จากงานวิจัยลงสู่ชุมชนได้อย่างสัมฤทธิผล

พรปวีณ์ ทองด้วง  นักประชาสัมพันธ์
 สถานอารยธรรมศึกษา โขง-สาละวิน  มหาวิทยาลัยนเรศวร  
1 กุมภาพันธ์ ๒๕๕๙


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น