หน้าเว็บ

วันพุธที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

พิษณุโลก ม.นเรศวร เชิญชมภาพจิตรกรรมฝาผนังแฝดสยามอินจัน ณ วัดราชบูรณะ



จิตรกรรมฝาผนังแฝดสยามอินจัน ณ วัดราชบูรณะ
คุณค่าทางประวัติศาสตร์ สังคม วัฒนธรรม และการท่องเที่ยวของจังหวัดพิษณุโลก

การนำเสนอข่าวภาพจิตรกรรมฝาผนังแฝดสยามอินจัน ณ อุโบสถหลวงพ่อทองขาว วัดราชบูรณะ จังหวัดพิษณุโลก ได้สร้างความสนใจให้กับผู้คนทั่วสารทิศเดินทางมาศึกษา ชื่นชม เนื่องจากปกติแล้วจิตรกรรมฝาผนังตามวัดทั่วไปมักเป็นเรื่องราวของพุทธประวัติ วรรณคดี เช่น รามเกียรติ์



            “จิตรกรรมฝาผนังอินจันนี้ค้นพบเมื่อปีพ.ศ.๒๕๔๕ ในการสอนรายวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะและประวัติศาสตร์ภาคเหนือตอนล่าง โดยการนำนิสิตศึกษาวัดวาอารามต่าง ๆ ในเขตภาคเหนือตอนล่าง และได้จัดทำเป็นเอกสารการอบรมเกี่ยวกับการท่องเที่ยวของจังหวัดพิษณุโลก เช่น การอบรมมัคคุเทศก์ ทั้งภาคภาษาไทยและภาษาอังกฤษ”ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วศิน ปัญญาวุธตระกูล ผู้อำนวยการสถานอารยธรรมศึกษา โขง-สาละวิน มหาวิทยาลัยนเรศวรผู้ค้นพบ

          “ วัดราชบูรณะเป็นวัดเก่าแก่ของจังหวัดพิษณุโลก มีประวัติศาสตร์การสร้างที่ยาวนาน ดูได้จากอุโบสถ วิหาร เป็นศิลปะสมัยอยุธยาตอนกลางถึงตอนปลาย ภายในอุโบสถมีภาพจิตรกรรมฝาผนังที่สวยงาม ซึ่งจากการศึกษาพบว่าวาดขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ส่วนใหญ่เป็นเรื่องราวของรามเกียรติ์ ต่อมาการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยได้นำเสนอจิตรกรรมฝาผนังลวดลายกามกรีฑา ซึ่งเป้นภาพการร่วมเพศของลิงและสัตว์ต่าง ๆ”

            เมื่อผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วศิน ปัญญาวุธตระกูล ได้เข้าไปศึกษาจิตรกรรมฝาผนัง ณ วัดราชบูรณะ พบว่า นอกเหนือจากรามเกียรติ์และกามกรีฑาแล้ว ยังมีภาพส่วนเล็ก ๆ แต่น่าสนใจอย่างยิ่ง นั่นคือ ภาพวาดชาวต่างชาติ เช่น จีน ญี่ปุ่น แขก และสุภาษิตต่าง ๆ และเมื่อศึกษาอย่างละเอียดก็พบว่า บริเวณด้านหลังหน้าต่างไม้บานหนึ่งเป็นภาพของชาย ๒ คน มีหน้าอกติดกัน ชี้มือไปทางสัตว์ป่าหิมพานต์ ระบุได้ว่าเป็นภาพของแฝดสยามอินจัน



            “ปกติแล้ว บริเวณนี้จะเป็นภาพยักษ์ หรือคนต่างชาติที่มีความหลากหลาย ความแปลกประหลาด แต่ที่วัดราชบูรณะแห่งนี้กลับเป็นภาพของแฝดอินจัน ลักษณะเหมือนในภาพถ่าย รายรอบด้วยภาพอาคาร โบสถ์ วัด และปราสาทต่าง ๆ รูปแบบเหมือนเก๋งจีน อันเป็นราชประเพณีนิยมสมัยรัชกาลที่ ๓ ซึ่งในช่วงนั้นเรื่องของแฝดสยามอินจันเป็นข่าวใหญ่ดังไปทั่วโลก ด้วยเป็นแฝดคู่แรกของโลกที่สามารถดำรงชีพเหมือนคนทั่วไปได้ตลอดชีวิต”

            ชีวิต ๖๓ ปีของอิน-จันเป็นสถิติใหม่ของชีวิตแฝดแบบเดียวกันในโลกศตวรรษที่ ๑๙ แต่คุณภาพชีวิตของคนทั้งสองไม่ใช่เพียงแค่ตัวเลขเท่านั้น เส้นทางชีวิตของอิน-จันเต็มไปด้วยสีสันอันน่าตื่นตาตื่นใจ ทั้งสองได้พบปะสนทนากับผู้คนมากกว่าใคร ๆ ในศตวรรษนั้น ตั้งแต่กษัตริย์จนถึงผู้ใช้แรงงาน ได้เดินทางจากซอกมุมเล็ก ๆ ของโลกจนถึงพระราชวังอันโอ่อ่า นอกจากเป็นคนไทยคู่แรกที่เดินทางไปสหรัฐฯ โอนสัญชาติเป็นอเมริกัน และสมรสกับชาวอเมริกันแล้ว ยังเชื่อว่าอิน-จันเป็นคนคู่แรกที่ตัดไม้ด้วยวิธีที่เรียกกันในปัจจุบันว่า สลับกันฟันไม้ ทั้งสองเป็นชาวไร่คนแรกในมลรัฐนอร์ทแคโรไลนาที่ผลิตยาสูบพันธุ์ใบตองอ่อน ซึ่งเป็นยาสูบสีเหลืองมะนาว มีราคาดี รวมทั้งช่วยพัฒนาวิธีการบ่มยาสูบที่เรียกกันว่า Flu Curing ด้วยเหตุนี้จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่อิน-จันมีฐานะดีกว่าเพื่อนบ้านในละแวกเดียวกัน จนถึงกับสามารถออกเงินกู้ได้ในยุคที่บ้านเมืองระส่ำระสายจากสงครามกลางเมือง(ส่วนหนึ่งของคำนำในหนังสือ แฝดสยาม อิน-จัน ฅนคู่สู้ชีวิต โดย วิลาส นิรันดร์สุขศิริ)
            การค้นพบจิตรกรรมฝาผนังแฝดสยามอินจันได้กลายเป็นส่วนสำคัญในการศึกษาประวัติศาสตร์ภาคเหนือตอนล่างของนิสิตมหาวิทยาลัยนเรศวรตลอดระยะเวลา ๑๓ ปี และล่าสุดผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วศิน ปัญญาวุธตระกูล ได้นำเสนอเรื่องนี้ต่อพระครูสิทธิธรรมวิภัช เจ้าอาวาสวัดราชบูรณะ เพื่อให้เกิดการอนุรักษ์จิตรกรรมฝาผนังโดยรอบอุโบสถ เนื่องจากปัจจุบันเกิดการชำรุด หลุดลอกเป็นจำนวนมาก จากการที่มีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติเดินทางเข้ามาเที่ยวชมตลอดเวลา เพราะวัดราชบูรณะอยู่ในเขตท่องเที่ยวของจังหวัดพิษณุโลก



            จิตรกรรมฝาผนังที่วัดราชบูรณะยังสะท้อนให้เห็นสภาพสังคมของจังหวัดพิษณุโลกที่เป็นพหุวัฒนธรรม มีชนชาวจีน ญี่ปุ่น แขก มีสังคมริมน้ำที่มีการค้าขายมาอย่างยาวนาน เนื่องจากวัดราชบูรณะอยู่ใกล้กับเขตการค้า ท่าเรือ และย่านเรือนแพเดิม ดังนั้นถ้ามีการศึกษาต่อไปถึงบุคคลที่วาด และลวดลายจิตรกรรมฝาผนังอย่างลึกซึ้ง ก็จะทำให้มองเห็นภาพสังคมของจังหวัดพิษณุโลกอย่างเด่นชัดและน่าสนใจ อันจะนำไปสู่การอนุรักษ์ การท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมต่อไป”

            การค้นพบจิตรกรรมฝาผนังแฝดสยามอินจัน ณ วัดราชบูรณะจึงเป็นจุดเริ่มต้นนำไปสู่การค้นหาตัวตนและการก่อเกิดคุณค่าทางประวัติศาสตร์ สังคม วัฒนธรรม และการท่องเที่ยวของจังหวัดพิษณุโลกต่อไป
   

พรปวีณ์  ทองด้วง   นักประชาสัมพันธ์ 
สถานอารยธรรมศึกษา โขง-สาละวิน   มหาวิทยาลัยนเรศวร
 ๒๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๘

            
เรวัติ น้อยวิจิตร  นสพ.พลังชน  rewat.noyvijit@hotmail.com 08-1910-7445

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น