หน้าเว็บ

วันศุกร์ที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

สุพรรณบุรี อพท.จัดกิจกรรม “ การนำเสนอผลการดำเนินงานปี ๒๕๕๗ ”




             สำนักงานพื้นที่พิเศษเมืองโบราณอู่ทองและภาคีเครือข่าย  นำเสนอผลการดำเนินงานปีงบประมาณ ๒๕๕๗ แก่สาธารณชนแบบมีส่วนร่วม


               เมื่อวันที่ ๒๔ ตุลาคม ๒๕๕๗ เวลา ๑๐.๐๐-๑๕.๓๐ น. สำนักงานพื้นที่พิเศษเมืองโบราณอู่ทอง ได้จัดกิจกรรม “การนำเสนอผลการดำเนินงานปี ๒๕๕๗” ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอู่ทอง อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี โดยมี หัวหน้าส่วนราชการในจังหวัดสุพรรณบุรี เทศบาลตำบลอู่ทองและเทศบาลตำบลท้าวอู่ทอง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชน สมาชิกชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชนเมืองโบราณทวารวดีอู่ทอง กลุ่มวิสาหกิจชุมชน ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอู่ทอง สื่อมวลชนและประชาชนทั่วไป เข้าร่วมงานทั้งสิ้น ๑๑๙ คน




              นางศิริกุล กสิวิวัฒน์ รองผู้อำนวยการ อพท. กล่าวว่า  การจัดเวทีนำเสนอผลการดำเนินงานปี ๒๕๕๗ครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ภาคีที่ร่วมทำงานกับ อพท. ไม่ว่าจะเป็นบริษัทที่ปรึกษา ส่วนราชการ สถาบันการศึกษา มูลนิธิฯตลอดจนชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชนฯและภาคีเครือข่ายอื่นๆ ได้มีโอกาสนำเสนอผลการทำงาน รับฟังข้อเสนอแนะข้อคิดเห็นและตอบข้อซักถามนับเป็นการเรียนรู้ร่วมกันซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมากในการทำงานร่วมกันเพื่อไม่ให้เกิดการซ้ำซ้อนและเป็นประโยชน์ในการวางแผนการดำเนินโครงการในปีต่อไป อันจะส่งผลให้เกิดประสิทธิภาพในการขับเคลื่อนแผนแม่บทอย่างแท้จริง



                การนำเสนอผลงานเป็นไปตามลำดับโครงการตาม ๖ ยุทธศาสตร์

               ยุทธศาสตร์ที่ ๑ การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว นายพนมบุตร จันทรโชติ ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอู่ทอง กล่าวว่า อพท.ได้สนับสนุนงบประมาณแก่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอู่ทอง เพื่อจัดพิมพ์แผ่นพับนำชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอู่ทองโดยได้จัดพิมพ์และแจกจ่ายแก่นักท่องเที่ยวและผู้สนใจทั่วไปเรียบร้อยแล้ว และยังสนับสนุนงบประมาณเพื่อใช้ ปรับปรุงภูมิทัศน์ซ่อมแซมเรือนลาวโซ่งไทยทรงดำ ด้วยการเปลี่ยนหลังคาและจัดหาพันธุ์พืชที่ชาวไทยทรงดำใช้ในชีวิตประจำวันนำมาปลูกบริเวณเรือนลาวโซ่งโดยได้ดำเนินการแล้ว เหลือแต่ โครงการสนับสนุนจัดทำหลุมขุดค้นเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ทางโบราณคดีเมืองโบราณอู่ทอง ความคืบหน้าจะแล้วเสร็จเดือนพฤศจิกายน ๒๕๕๗ ภายในมีการจัดแสดงโครงกระดูกมนุษย์ที่ขุดพบบริเวณคูเมืองโบราณอู่ทอง





               นายอำนาจ พลเตชา ที่ปรึกษาบริษัท เอ-เซเว่น คอร์ปอเรชั่น จำกัด รายงานผลการออกแบบโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์เส้นทางคมนาคมเมืองโบราณอู่ทองว่า ทุกภาคส่วนที่เข้าร่วมประชาพิจารณ์และรับฟังข้อมูลของสาธารณชนได้ผลสรุปแนวทางร่วมกันว่าควรมีการปรับปรุงเส้นทางบนถนน ๓ สาย คือทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๓๒๑ ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๓๓๓ และถนนวินยานุโยค โดยต้องการปรับปรุง วงเวียนหอนาฬิกาอู่ทองโดยออกแบบเฉือนพื้นที่วงเวียนบางส่วนออก เพื่อเปิดเส้นทางคมนาคมให้คล่องตัวมากขึ้น ต้องการติดตั้งกล้องตรวจจับความเร็วอัตโนมัติ ติดตั้งอุปกรณ์ชะลอความเร็วและติดตั้งป้ายจราจร เช่น โรงเรียน หน่วยงานราชการ จัดให้มีเส้นทางจักรยานบนถนนสายหลักและป้ายประกอบเส้นทางจักรยาน ซึ่งการออกแบบภูมิทัศน์นี้สามารถนำไปขยายผลการก่อสร้าง ล่าสุด อพท.ได้สนับสนุนงบประมาณแก่เทศบาลตำบลอู่ทองและเทศบาลตำบลท้าวอู่ทองเพื่อปรับปรุงเส้นทางคมนาคมถนนวินยานุโยค





                สำหรับโครงการพัฒนาและอนุรักษ์แหล่งท่องเที่ยวพุหางนาคนั้น อพท.และบริษัท เอ-เซเว่นฯ ได้ดำเนินการจัดทำป้ายสื่อความหมายทางธรรมชาติ จัดทำคู่มือและจัดนิทรรศการ จัดทำแปลงเพาะชำกล้าไม้ จัดกิจกรรมส่งเสริมการมีส่วนร่วมกับทุกภาคส่วน จัดกิจกรรมเปิดตัวโครงการเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวสวนหินพุหางนาค นอกจากนี้ อพท.ได้พาผู้แทนเทศบาลตำบลท้าวอู่ทอง ผู้แทนจากป่าไม้จังหวัดสุพรรณบุรีและวนอุทยานพุม่วง รวมทั้งสมาชิกชมรมอาสาสมัครนำเที่ยวสวนหินพุหางนาคเดินทางไปศึกษาดูงานการจัดการแหล่งท่องเที่ยวอุทยานแห่งชาติคินะบาลู ประเทศมาเลเซีย เพื่อนำแนวคิดมาประยุกต์ใช้ในการบริหารจัดการสวนหินพุหางนาค

                รศ.จงลักษณ์ ช่างปลื้ม มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนดุสิต ศูนย์บริการนอกที่ตั้งสุพรรณบุรี รายงานผลโครงการสัมมนาเชิงปฏิบัติการกระบวนการมีส่วนร่วมเพื่อค้นหาความภาคภูมิใจที่มีต่ออารยธรรมอู่ทอง พบว่าชาวอู่ทองต้องการแต่งกายชุดที่แสดงตัวตนและอัตลักษณ์ของชาวอู่ทองเพื่อเข้าร่วมพิธีและศาสนพิธีสำคัญในพื้นที่ จึงควรมีการค้นหาชุดวัฒนธรรมและรณรงค์เรื่องการแต่งกาย ชาวอู่ทองต้องการสำรวจจักรยานโบราณในอู่ทองอย่างจริงจังเพื่อใช้เป็นพาหนะต้อนรับนักท่องเที่ยวและพัฒนาจักรยานโบราณให้แพร่หลายในพื้นที่ ต้องการดึงเอากิจกรรมการละเล่นหัวโตกลองยาวมาสร้างสีสันให้เมือง ต้องการพัฒนาสาโทและสินค้าพื้นถิ่นให้ได้มาตรฐาน สำหรับการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวทางน้ำในอนาคต  อพท. ได้จัดกิจกรรมศึกษาดูงานการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวทางน้ำเมืองโบราณอู่ทอง ณ เมืองกุ้ยหลิน มณฑลกวางสี เมืองโจวจวง หังโจว อู่เจิ้นและเซี่ยงไฮ้ สาธารณรัฐประชาชนจีน ตามที่ อพท. เทศบาลตำบลอู่ทองและเทศบาลตำบลท้าวอู่ทองมีแผนที่จะพัฒนาตลาดน้ำบริเวณคูเมืองโบราณอู่ทองและแม่น้ำจรเข้สามพันเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญในอนาคต




                ยุทธศาสตร์ที่ ๒ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน นายพิชญะ จันทรานุวัฒน์ ผู้แทนบริษัท ฟิวชั่น คอนซัลแตนท์ จำกัด ชี้แจงผลสรุปการดำเนินโครงการขยายเขตไฟฟ้าเมืองโบราณอู่ทองว่า ฟิวชั่นฯ ดำเนินการ ๓ ส่วนคือ ออกแบบระบบไฟฟ้าและโทรคมนาคมใต้ดิน ออกแบบการขยายเขตไฟฟ้าในโบราณสถาน ออกแบบไฟฟ้าส่องสว่างสาธารณะในระยะ ๑๐ กิโลเมตร เพื่อดำเนินการในถนน ๓ สายคือ ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๓๒๑ ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๓๓๓ และถนนวินยานุโยค ซึ่งการประดับไฟบนถนนวินยานุโยคจะใช้โคมไฟที่สอดคล้องกับโครงการออกแบบสัญลักษณ์เมืองโบราณอู่ทองมาประดับ ผลผลิตในปี ๒๕๕๗ ได้แบบรายละเอียดผลการศึกษาและ Bill of Quantities เพื่อใช้วิเคราะห์เปรียบเทียบราคาหาผู้รับเหมาตามเงื่อนไขของการตกลงราคาที่เหมาะสม

                  ยุทธศาสตร์ที่ ๓ การสร้างกิจกรรมการท่องเที่ยว ผศ.ดร.สุดสันต์ สุทธิพิศาล สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ กล่าวถึงโครงการที่ปรึกษาและพัฒนาผลิตภัณฑ์การท่องเที่ยวเพื่อสนับสนุนการบริหารพื้นที่พิเศษเมืองโบราณอู่ทองว่าได้ดำเนินการผ่าน ๕ กิจกรรมคือ วิเคราะห์สถานการณ์และบริบท จัดประชุมถอดบทเรียนการทำงาน จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการจัดทำแนวทางการพัฒนาผลิตภัณฑ์การท่องเที่ยว และจัดทำคู่มือการบริหารจัดการพื้นที่




                 ขณะที่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดร.รัชนีกร แซ่วัง รายงานผลโครงการออกแบบผลิตภัณฑ์การท่องเที่ยวและการสื่อความหมายทางวัฒนธรรมด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมว่า ดำเนินการผ่าน ๔ กิจกรรมคือ สำรวจสินทรัพย์ทางวัฒนธรรมในท้องถิ่น สำรวจภูมิทัศน์วัฒนธรรมเพื่อการท่องเที่ยว การปฏิบัติการออกแบบและสื่อความหมายการท่องเที่ยว และจัดทำต้นแบบผลิตภัณฑ์การท่องเที่ยวและการสื่อความหมายการท่องเที่ยว

                มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต ดร.ปรเมษฐ บุญนำศิริกิจ รายงานผลโครงการเครือข่ายการท่องเที่ยวเพื่อสนับสนุนการบริหารพื้นที่พิเศษอู่ทองผ่าน ๕ กิจกรรมคือ ศึกษาพื้นที่ ทบทวนวรรณกรรม ออกแบบการจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการและติดตามประเมินผลโครงการ โดยได้จัดกิจกรรมนอนบ้านดิน กินปิ่นโต ปั่นเกี่ยวข้าว โดยชักชวนเครือข่ายกลุ่มผู้ขี่จักรยานเสือหมอบและเสือภูเขาใน ๓ มหาวิทยาลัยคือ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และมหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิตมาเที่ยวเมืองโบราณอู่ทองด้วยจักรยานและปั่นจักรยานไปเกี่ยวข้าว เยี่ยมชมวิถีชีวิตชาวลาวครั่งที่หมู่ที่ ๓ บ้านโคก

              โครงการพัฒนาศักยภาพบุคลากรเมืองโบราณอู่ทองด้านการให้บริการ อ.วริษฐา แก่นสานสันติ มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนดุสิต (ส่วนกลาง) รายงานว่าได้จัดอบรม  ๒ หลักสูตรคือ หลักสูตรการเป็นเจ้าบ้านที่ดี และหลักสูตรการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน พร้อมรายงานผลการดำเนินการตามหลักสูตรทั้ง ๒ เพื่อเตรียมความพร้อมในด้านบริการให้ผู้ประกอบการธุรกิจและผู้ที่เข้ารับการอบรมเข้าใจในงานบริการรองรับนักท่องเที่ยว

             นายประยูร อสัมภิณพงศ์ ประธานชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชนเมืองโบราณทวารวดีอู่ทองกล่าวถึงโครงการพัฒนาศักยภาพและเตรียมความพร้อมชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชนเมืองโบราณทวารวดีอู่ทองว่าได้ดำเนินกิจกรรม ๕ กิจกรรมคือ จัดทำปฏิทินการท่องเที่ยว จัดทำแผนที่ท่องเที่ยว สร้างกฎกติกามารยาทในการท่องเที่ยว พาสมาชิกชมรมศึกษาดูงานการจัดการท่องเที่ยวของบ้านน้ำเชี่ยว จังหวัดตราด รายงานผลการศึกษาดูงานและข้อมูลเรื่องเล่า ตำนานพื้นถิ่น รวมทั้งจัดกิจกรรม FAMTRIP พาสมาชิกชมรมฯ ท่องเที่ยวในพื้นที่พิเศษเมืองโบราณอู่ทอง ๑ วัน




              ยุทธศาสตร์ที่ ๔ การพัฒนาบริการเพื่อการท่องเที่ยว นายแพทย์บัญชา พงษ์พานิช มูลนิธิหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ กล่าวว่ามูลนิธิหอจดหมายเหตุพุทธทาสฯ ได้ดำเนินกิจกรรมตามแผนแม่บทฯ โดยผลิตชุดความรู้และจัดพิมพ์หนังสือรวมรวมองค์ความรู้รอยพระพุทธศาสนาแรกเริ่มและรอยลูกปัดโบราณอู่ทอง และผลิตชุดความรู้และจัดพิมพ์หนังสืออู่ทอง : หลักฐานพระพุทธศาสนาระยะแรกเริ่มและรอยลูกปัด และดำเนินโครงการศึกษาเมืองโบราณในภูมิภาคที่มีความสำคัญคล้ายคลึงกับเมืองโบราณอู่ทองที่มีการพัฒนาสร้างสรรค์การท่องเที่ยว สำหรับในปีต่อไปนั้น มูลนิธิหอจดหมายเหตุฯ จะศึกษาค้นคว้ารวบรวมความรู้การเข้ามาของพระพุทธศาสนาและลูกปัด โดยจะลงพื้นที่สำรวจและศึกษาข้อมูลอย่างลึกซึ้งเพื่อสืบค้นหลักฐานทางโบราณคดีและทางประวัติศาสตร์ว่าเมืองโบราณอู่ทองน่าจะเป็นศูนย์กลางการค้าของโลกในยุคโบราณหรือไม่ อย่างไร?นอกจากนี้ ยังได้วางแผนที่จะเชิญนักประวัติศาสตร์จากทุกมุมโลกมาร่วมประชุมทบทวนประวัติศาสตร์และวรรณกรรมที่เกี่ยวข้องกับเมืองโบราณอู่ทอง ซึ่งจะส่งผลดีต่อการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์เมืองโบราณอู่ทองไปสู่ระดับโลก เพราะนักประวัติศาสตร์เหล่านั้นก็จะชำระประวัติศาสตร์ในแง่มุมต่าง ๆ ถ่ายทอดเป็นบทความตามความคิดของผู้เขียน เผยแพร่ข้อมูลอู่ทองในหลายแง่มุมให้แพร่หลายมากขึ้น นายแพทย์บัญชาเสนอแนะว่าเมืองโบราณอู่ทองยังมีลูกปัดที่หล่นกระจัดกระจายอยู่ในดินอีกหลายพื้นที่ซึ่งสามารถยกระดับเป็นแหล่งขุดค้นลูกปัดได้ รวมทั้งตามแผนงานของ อพท.ก็จะมีการส่งเสริมให้ชาวอู่ทองผลิตลูกปัดทดแทนลูกปัดโบราณเพื่อสร้างสีสันให้กับเมือง

              ร.ศ.ดร.เทิดชาย ช่วยบำรุง คณบดีคณะการจัดการการท่องเที่ยว สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ กล่าวว่า NIDA ได้ร่วมมือกับ อพท.๗ ดำเนินโครงการจัดทำฐานข้อมูลทรัพยากรภูมิปัญญาและวัฒนธรรมการท่องเที่ยวเมืองโบราณอู่ทองสู่การสร้างสรรค์ชุมชนต้นแบบผ่านการสร้างเส้นทางท่องเที่ยวชุมชนเชื่อมโยง ด้วยการลงสำรวจภูมิปัญญาท้องถิ่น สำรวจวัฒนธรรม ความเชื่อ อัตลักษณ์ วิถีชีวิต ภูมิทัศน์ ธรรมชาติ สิ่งปลูกสร้างของทุกชุมชนทุกหมู่บ้านในตำบลอู่ทอง จัดเก็บข้อมูลที่พักนักท่องเที่ยว อาหารและเครื่องดื่ม ข้อมูลถนน ตลาด วัด ร้านค้า พิพิธภัณฑ์ ในด้านการต้อนรับได้ลงสำรวจการบริการและการอำนวยความสะดวก สร้างปฏิสัมพันธ์กับทุกภาคส่วนด้วยการจัดกิจกรรมเพื่อเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนเกิดประสบการณ์ในการต้อนรับนักท่องเที่ยว นอกจากนี้ ยังได้พาเทศบาล กำนัน

                  ผู้ใหญ่บ้านและผู้นำชุมชน รวมทั้งผู้แทนชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชนเมืองโบราณทวารวดีอู่ทอง ศึกษาดูงานการจัดการการท่องเที่ยวแหล่งมรดกโลกที่เมืองเว้-ดานัง-ฮอยอัน ประเทศเวียดนาม รวมทั้งศึกษาดูงานแหล่งมรดกโลกบ้านเชียง จัดกิจกรรม FAM TRIP เส้นทางท่องเที่ยวเชื่อมโยงและพัฒนาชุมชนต้นแบบด้านการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ จำนวน ๕ ชุมชน





                 ยุทธศาสตร์ที่ ๕ การประชาสัมพันธ์ ผู้แทนบริษัท เอ-เซเว่น คอร์ปอเรชั่น จำกัด รายงานผลการดำเนินโครงการคัดเลือกและก่อสร้างสัญลักษณ์เมืองโบราณอู่ทอง ผลการศึกษาและจัดประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็นประชาชนมีความเห็นสอดคล้องกันว่า ควรออกแบบสัญลักษณ์เมืองโบราณอู่ทองโดยรวมสัญลักษณ์ของเมืองโบราณ   อู่ทอง ได้แก่ คูเมืองโบราณอู่ทอง ธรรมจักรพร้อมแท่นและเสาประดับรูปกวางหมอบ จารึกปุษยคีรีและอักษรปัลลวะและสัญลักษณ์แทนขุนเขาในเมืองโบราณอู่ทอง เป็นแนวคิดในการก่อสร้าง ผลผลิตที่ได้คือ แบบรายละเอียดสัญลักษณ์และที่ตั้งสัญลักษณ์ จัดทำวีดีทัศน์ Animation รวมทั้ง อพท. ได้อุดหนุนงบประมาณแก่เทศบาลตำบลอู่ทองเพื่อดำเนินการก่อสร้างสัญลักษณ์เมืองโบราณอู่ทองให้แล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน ๒๕๕๘ สถานที่จัดสร้างจะใช้พื้นที่สวนสาธารณะเปิดโล่งของกรมธนารักษ์และกรมศิลปากรบริเวณหน้าที่ทำการอำเภออู่ทองเป็นพื้นที่ก่อสร้างประติมากรรมสัญลักษณ์เมืองโบราณอู่ทอง สำหรับศูนย์ราชการเดิมจะมีการย้ายสถานที่ไปรวมอยู่ที่ศูนย์ราชการระดับอำเภออู่ทองที่มีการจัดสร้างใหม่ บริเวณหมู่ที่ ๑ นาลาวและหมู่ที่ ๙ บ้านศรีสรรเพชญ์
นายธเนศ วรศรัณย์ สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย รายงานโครงการพัฒนาสินค้าที่ระลึกเมืองโบราณอู่ทองเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มโดยใช้อัตลักษณ์ท้องถิ่น และโครงการขยายผลผลิตภัณฑ์สินค้าต้นแบบเข้าสู่ระบบธุรกิจว่าได้ดำเนินการออกแบบและผลิตสินค้าต้นแบบของที่ระลึกประมาณ ๒๐ ชิ้น อาทิ ตราประทับ เสื้อ กระเป๋า เคสมือถือ พวงกุญแจ กระติกน้ำ สร้อยข้อมือ ให้มีลวดลายที่เกี่ยวข้องกับลูกปัดทวารวดีเพื่อใช้ชุมชนสามารถนำไปประยุกต์ใช้พัฒนาธุรกิจและรูปแบบของธุรกิจ รวมทั้งได้ออกแบบมาสคอต อพท.๗ เป็นรูปคุณกำปัดชายและคุณกำปัดหญิง ซึ่ง อพท.ได้นำมาสคอตไปจดลิขสิทธิ์เรียบร้อยแล้ว โดยผู้ประกอบการที่สนใจจะพัฒนาสินค้าที่ระลึกสามารถทำเรื่องเพื่อขอใช้มาสคอตเป็นตราสัญลักษณ์สินค้าได้โดยผ่านการพิจารณาจาก อพท. ก่อน การขยายผลผลิตภัณฑ์สินค้าต้นแบบเข้าสู่ระบบธุรกิจได้จัดกิจกรรมบ่มเพาะผู้ประกอบการชุมชนที่เข้าร่วมโครงการจำนวน ๑๖ คน และมีการเข้าร่วมกิจกรรมจับคู่ทางธุรกิจแล้วจำนวน ๒๒ ราย

                ยุทธศาสตร์ที่ ๖ การบริหารจัดการ นายพิภพ บุญธรรม ปลัดจังหวัดสุพรรณบุรีในฐานะเลขานุการมูลนิธิสุวรรณภูมิ กล่าวว่า อพท. สนับสนุนทุนประเดิมเพื่อจัดตั้งมูลนิธิสุวรรณภูมิและสนับสนุนงบประมาณเพื่อดำเนินโครงการบริหารจัดการมูลนิธิสุวรรณภูมิและโครงการจัดทำ Site Mapping บริเวณที่ตั้งมูลนิธิสุวรรณภูมิ  ได้จัดตั้งที่ทำการมูลนิธิสุวรรณภูมิแล้วเสร็จตั้งอยู่ที่หมู่ที่ ๑ บ้านนาลาว มีการจัดสร้างลานจัดแสดง ดำเนินการด้านสาธารณูปโภคพื้นฐานและจัดซื้อวัสดุครุภัณฑ์เรียบร้อยแล้ว อยู่ระหว่างประกาศรับสมัครเจ้าหน้าที่เป็นการเพิ่มเติม นอกจากนี้ มูลนิธิสุวรรณภูมิยังร่วมกับจังหวัดสุพรรณบุรีดำเนินการก่อสร้าง หมู่บ้านอู่ทองอู่อารยธรรมสุวรรณภูมิ ซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณเดียวกับมูลนิธิเพื่อใช้เป็นสถานที่จัดแสดงวัฒนธรรมชนเผ่า มูลนิธิสุวรรณภูมิจะทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่กับ อพท. เพื่อผลักดันการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนเมืองโบราณอู่ทอง




               ผู้แทนบริษัท เอ-เซเว่น คอร์ปอเรชั่น จำกัด รายงานผลโครงการศึกษาและออกแบบรายละเอียดอุทยานสุวรรณภูมิเมืองโบราณอู่ทอง โดยได้สำรวจและออกแบบพื้นที่ ๑) บริเวณหัวแหวนภายในคูเมืองโบราณอู่ทอง ซึ่งตามแผนงานจะใช้เป็นพื้นที่เปิดโล่งเพื่อสร้างสัญลักษณ์เมือง เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชื่อมโยงกับตลาดน้ำและถนนคนเดิน ทำให้หน่วยงานราชการรอบคูเมืองโบราณจะต้องย้ายออกไปอยู่ศูนย์ราชการใหม่ ๒) การออกแบบพื้นที่ศูนย์ราชการระดับอำเภออู่ทองแห่งใหม่ หลังจากได้สำรวจข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับประโยชน์การใช้พื้นที่ของทุกหน่วยงานราชการที่จะย้าย จัดประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็นของส่วนราชการ จัดทำแบบรายละเอียด Detail Design อาคารศูนย์ราชการ การวางผังการใช้สอยโดยรวมของส่วนราชการ อาทิ ที่ว่าการอำเภออู่ทอง ศูนย์บริหารการทะเบียนภาค ๗ สาขาจังหวัดสุพรรณบุรี สำนักงานที่ดินจังหวัดสุพรรณบุรีสาขาอู่ทอง ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภออู่ทอง สถานีตำรวจภูธรอำเภออู่ทอง เป็นต้น

              ในช่วงท้ายของงานได้เปิดเวทีให้ประชาชนทั่วไป และภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนที่เข้าร่วมกิจกรรมนี้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกันและตอบคำถามเพื่อคลายข้อสงสัย นับเป็นนิมิตหมายที่ดีของการทำงานร่วมกันเพื่อขับเคลื่อนแผนแม่บทได้อย่างเป็นรูปธรรม



   Cadit : ชมพูนุท ธาราสิทธิโชค เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์   084-163-7599
เรวัติ  น้อยวิจิตร  สุพรรณบุรีนิวส์  rewat.noyvijit@hotmail.com  081-9107445

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น