หน้าเว็บ
▼
วันพฤหัสบดีที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2557
การสำรวจความคิดเห็น เรื่อง การมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควรของวัยรุ่นไทย
การสำรวจความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อการมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควรของวัยรุ่นไทย
โดย สำนักวิจัย มหาวิทยาลัยคริสเตียน
-----------------------------------------------------
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จันทร์จิรา วงษ์ขมทอง อธิการบดี มหาวิทยาลัยคริสเตียน เปิดเผยว่าได้มอบหมายให้สำนักวิจัยสำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อการมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควรของวัยรุ่นไทย สำนักวิจัยจึงได้ สำรวจความคิดเห็นของประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไปที่อาศัยอยู่ในเขตจังหวัดกาญจนบุรี ราชบุรี สุพรรณบุรี และนครปฐม จำนวน 1,207 คน โดยกลุ่มตัวอย่างเป็นชายร้อยละ 50.8 และหญิงร้อยละ 49.2 มีอายุ 18-30 ปี ร้อยละ 44.7 สถานภาพโสด ร้อยละ 51.2 สถานภาพสมรส 43.2 นับถือศาสนาพุทธมากที่สุด ร้อยละ 96.4 รองลงเป็นมาศาสนาคริสต์ ร้อยละ 3.3 ระดับการศึกษา ปริญญาตรีมากที่สุด ร้อยละ 45.0 รองลงมาเป็นระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ร้อยละ 17.5 เป็นนักเรียน และนักศึกษา มากที่สุด ร้อยละ 30.0 และรองลงมาเป็นข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 18.6
ประชาชนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 55.4 มีความคิดเห็นว่าการมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควรของวัยรุ่นไทยเป็นเรื่องไม่เหมาะสม รองลงมา ร้อยละ 50.9 เห็นว่ามีปัญหาเกี่ยวกับเพศสัมพันธ์มากในสังคมไทย ร้อยละ 47.4 เห็นว่าเป็นเรื่องที่สังคมต้องร่วมกันแก้ไข ร้อยละ 45.8 มีความเห็นว่าเป็นเรื่องที่ป้องกันได้ และร้อยละ 40.5 มีความเห็นว่าเป็นเรื่องธรรมชาติของวัยรุ่น
กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ร้อยละ 53.0 มีความเห็นว่า การมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควรของ วัยรุ่นไทยเกิดจากความคึกคะนอง รองลงมาร้อยละ 50.2 มีความเห็นว่าเกิดจากความอยากรู้อยากลอง ร้อยละ 49.9 มีความเห็นว่า เกิดจากการขาดความรู้ในการป้องกันตนเอง ร้อยละ 48.5 มีความเห็นว่า เกิดจากขาดความรักความอบอุ่นในครอบครัว ร้อยละ 42.8 มีความเห็นว่า เกิดจากถูกล่อลวง และร้อยละ 39.9 มีความเห็นว่า เกิดจากถูกล่วงละเมิดทางเพศ
กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ร้อยละ 54.5 มีความเห็นว่า ปัญหาการมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควรของวัยรุ่นไทย ทำให้วัยรุ่นติดโรคทางเพศสัมพันธ์ ร้อยละ 53.7 มีความเห็นว่าส่งผลให้วัยรุ่นตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ และร้อยละ 45.7 มีความเห็นว่าส่งผลให้วัยรุ่นขาดสมาธิใน การเรียน
กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ร้อยละ 49.3 มีความเห็นว่าปัญหาการมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควรของวัยรุ่นไทยเกิดในช่วงวันวาเลนไทน์ ร้อยละ 38.7 มีความเห็นว่าเกิดในช่วงเทศกาลปีใหม่ ร้อยละ 32.8 มีความเห็นว่าเกิดในช่วงเทศกาลสงกรานต์ และร้อยละ 31.4 มีความเห็นว่าไม่จำกัดช่วงเวลา
กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 43.6 รับทราบการมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควรของวัยรุ่นไทยจากข่าวของสื่อต่างๆ รองลงมาร้อยละ 31.5 รับทราบ การมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควรของวัยรุ่นไทยในสังคมทั่วไป และร้อยละ 30.8 รับทราบการมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควรของวัยรุ่นไทยในชุมชนที่อาศัยอยู่
กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 52.1 มีความคิดเห็นว่าวัยรุ่นที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ ควรแก้ไขปัญหาโดยปรึกษาผู้ปกครอง รองลงมาร้อยละ 48.4 มีความคิดเห็นว่าควรแก้ปัญหาโดยขอความช่วยเหลือจากมูลนิธิ และร้อยละ 45.7 มีความคิดเห็นว่าควรแก้ปัญหาโดยปรึกษาเพื่อน ทั้งนี้กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 57.2 มีความคิดเห็นว่าวัยรุ่นที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ ไม่ออกมาขอความช่วยเหลือ เนื่องจากกลัวผู้ปกครองผิดหวังเสียใจ รองลงมาร้อยละ 51.7 มีความคิดเห็นว่าไม่แน่ใจว่าจะได้รับความช่วยเหลือ ร้อยละ 50.1 มีความคิดเห็นว่ากลัวเสียชื่อเสียง และร้อยละ 44.9 มีความคิดเห็นว่าเกิดจากความอาย
ส่วนความคิดเห็นต่อการดำเนินการของภาครัฐ เพื่อการแก้ไขปัญหาการมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควรในวัยรุ่น พบว่า กลุ่มตัวอย่างมากที่สุดร้อยละ 54.5 มีความเห็นว่าควรให้ความรู้เกี่ยวกับเพศศึกษา แก่วัยรุ่นทั้งชายและหญิง รองลงมา ร้อยละ 53.6 มีความเห็นว่า ควรให้ความรู้เกี่ยวกับการป้องกันตนเองทั้งวัยรุ่นชายและหญิง และร้อยละ 52.3 มีความเห็นว่า ควรส่งเสริมให้ผู้ปกครองดูแลบุตรหลานอย่างใกล้ชิด
นอกจากนี้ กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 48.6 มีความคิดเห็นว่าภาครัฐควรมีแนวทางในการป้องกันปัญหาการมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควรในวัยรุ่น ด้วยการกวดขันวัยรุ่นไม่ให้หนีเรียนหรือมั่วสุมยาเสพติด รองลงมา ร้อยละ 48.2 เสนอแนะให้ รณรงค์ให้วัยรุ่นทำกิจกรรมที่เป็น
ประโยชน์ต่อสังคม ร้อยละ 47.1 เสนอแนะให้จำกัดสถานที่ล่อแหลมหรือแหล่งมั่วสุม ร้อยละ 46.9 เสนอแนะให้ผู้รักษากฎหมายต้องบังคับใช้มาตรการทางกฎหมายอย่างเข้มงวด ด้วยความเป็นธรรมและเสมอภาค ร้อยละ 37.9 เสนอแนะให้ควบคุมสื่ออนาจารหรือสิ่งยั่วยุอย่างเข้มงวด และร้อยละ 37.4 เสนอแนะให้ลงโทษผู้กระทำการล่วงละเมิดทางเพศอย่างรุนแรง
ปัญหาการมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควรเป็นพฤติกรรมทางเพศที่ไม่เหมะสมของวัยรุ่น และเป็นปัญหาสังคมที่รุนแรงมากขึ้น ปัจจุบันวัยรุ่นไทยมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกเมื่ออายุน้อยลง เด็กวัยรุ่นไทยส่วนหนึ่งรับวัฒนธรรมตะวันตกที่เข้ามาในประเทศไทยจนลืมรักษาขนบธรรมเนียมและวัฒนธรรมอันดีงามของไทย อาทิ การแต่งกาย การคบเพื่อนต่างเพศ การรักนวลสงวนตัว มีความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องในเรื่องเพศและมองว่าการแสดงออกทางพฤติกรรมทางเพศถือเป็นเรื่องปกติธรรมดา จึงทำให้วัยรุ่นมีพฤติกรรมทางเพศที่ไม่ถูกต้องเหมาะสม อาทิ การมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร การสำส่อนทางเพศ การเบี่ยงเบนทางเพศ เป็นต้น นอกจากนี้ยังก่อให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมา อาทิ การเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ การตั้งครรภ์ที่ไม่พึงประสงค์ และปัญหาการทำแท้ง ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของพ่อ แม่ ครู อาจารย์และญาติผู้ใหญ่ที่จะต้องช่วยกันดูแล ให้ความรักความอบอุ่นแก่บุตรหลาน เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้บุตรหลานที่เป็นวัยรุ่นให้ปลอดภัยจากการถูกล่อลวงหรือคุกคามทางเพศ อีกทั้งหน่วยงานภาครัฐ ก็ต้องสนใจและร่วมมือกันป้องกันและแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง
……………………………………………………………..
มหาวิทยาลัยคริสเตียน ประเทศไทย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น