หน้าเว็บ
▼
วันพฤหัสบดีที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556
มหาวิทยาลัยนเรศวรขอเชิญร่วมเทิดพระเกียรติสมเด็จพระนเรศวรมหาราช
สัมผัสบรรยากาศย้อนยุคเมืองพิษณุโลก ในงาน “ย้อนอดีตพระราชวังจันทน์ สร้างสรรค์เมืองพิษณุโลกสองแคว” ศึกษาพระราชประวัติสมเด็จพระนเรศวรมหาราชและประวัติศาสตร์พระราชวังจันทน์ สัมผัสวิถีชีวิตกลุ่ม ชาติพันธุ์ ชมการแสดงทางวัฒนธรรม ย่ำตลาดย้อนยุคจับจ่ายสินค้าแนวโบราณประยุกต์ และร่วมลอยกระทงสืบสานประเพณีไทย วันที่ ๑๔ – ๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๕๖ ณ บริเวณด้านหน้าลานพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช มหาวิทยาลัยนเรศวร
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ภูพงษ์ พงษ์เจริญ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยนเรศวร เปิดเผยว่า “เนื่องด้วยในปี พ.ศ. ๒๕๕๗ เป็นวาระครบรอบ ๔๒๔ ปี แห่งการขึ้นครองราชย์ของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชพระมหากษัตริย์ที่ประสูติ ณ พระราชวังจันทน์ เมืองพิษณุโลก บทบาทของพระองค์มีความสำคัญต่อประวัติศาสตร์ชาติไทยเป็นอย่างยิ่ง ทั้งนี้มหาวิทยาลัยนเรศวรได้มีการศึกษา รวบรวม สืบค้นเรื่องราวเกี่ยวกับพระองค์และพระราชวังจันทน์มาโดยตลอด ทำให้ได้รับข้อมูลและข้อค้นพบต่าง ๆ ที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ ด้วยเหตุนี้มหาวิทยาลัยนเรศวร โดยภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์จึงร่วมกับสถานอารยธรรมศึกษา โขง-สาละวิน และกองการศึกษาทั่วไป
จัดงาน‘ย้อนอดีตพระราชวังจันทน์ สร้างสรรค์เมืองพิษณุโลกสองแคว’ ขึ้น เพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระนเรศวรมหาราช และเผยแพร่องค์ความรู้เกี่ยวกับการพัฒนาทุนทางสังคมและวัฒนธรรมกับเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์
ดร.วศิน ปัญญาวุธตระกูล ผู้อำนวยการสถานอารยธรรมศึกษา โขง-สาละวิน และหัวหน้าภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวว่า “งาน ‘ย้อนอดีตพระราชวังจันทน์ สร้างสรรค์เมืองพิษณุโลกสองแคว’ กำหนดจัดขึ้นในวันที่ ๑๔ – ๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๕๖ เวลา ๑๗.๐๐ – ๒๑.๐๐ น. ณ บริเวณด้านหน้าลานพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช มหาวิทยาลัยนเรศวร สัมผัสบรรยากาศราชสำนักเมืองพิษณุโลกในอดีต ประกอบด้วยนิทรรศการพระราชประวัติสมเด็จพระนเรศวรมหาราชและประวัติศาสตร์พระราชวังจันทน์ ตลาดย้อนยุคจำหน่ายสินค้าแนวโบราณประยุกต์ ทั้งอาหาร ข้าวของเครื่องใช้ ของตกแต่ง เครื่องประดับ ของเล่น ของที่ระลึก พลุ ตะไล ไฟพะเนียง เช่น ข้าวเกรียบสาหร่ายน้ำจืด สมุดบันทึกปกผ้าไทลื้อ กระเป๋ากลจากผ้าขาวม้า กุญแจกลผ้าไททรงดำ เป็นต้น ตลอดจนนิทรรศการจัดแสดงวิถีชีวิต วัฒนธรรม ประเพณีของหลากหลายกลุ่มชาติพันธุ์ ในรูปแบบที่อยู่อาศัย ศิลปหัตถกรรม ภาษา การละเล่น ฯลฯ พร้อมร่วมลอยกระทง ณ บริเวณพิพิธภัณฑ์ชีวิต
ขอเชิญเข้าร่วมพิธีเปิดในวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๖ เวลา ๑๗.๐๐ น. ณ บริเวณลานด้านหน้า พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช มหาวิทยาลัยนเรศวร โดยมีศาสตราจารย์ ดร.สุจินต์ จินายน อธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร เป็นประธานพิธี พร้อมชมการแสดงประกอบแสง สี เสียง ชุด ย้อนอดีตพระราชวังจันทน์ สร้างสรรค์เมืองพิษณุโลกสองแคว
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สถานอารยธรรมศึกษา โขง-สาละวิน มหาวิทยาลัยนเรศวร หมายเลขโทรศัพท์ ๐ ๕๕๙๖ ๑๑๔๓
กำหนดการ
พิธีเปิดงาน “ย้อนอดีตพระราชวังจันทน์ สร้างสรรค์เมืองพิษณุโลกสองแคว”
ณ บริเวณด้านหน้าลานพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช
มหาวิทยาลัยนเรศวร
………………………………………
วันศุกร์ที่ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๖
เวลา ๑๗.๐๐ น.
- ลงทะเบียนผู้เข้าร่วมงาน
- ประธานมาถึง ณ บริเวณงาน
ศาสตราจารย์ ดร.สุจินต์ จินายน อธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร
- รองศาสตราจารย์พรรณยุพา นพรัก คณบดีคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร
กล่าวรายงาน
- ประธานกล่าวเปิดงาน
- การแสดงประกอบแสง สี เสียง ชุด
“ย้อนอดีตพระราชวังจันทน์ สร้างสรรค์เมืองพิษณุโลกสองแคว”
- ประธานและแขกผู้มีเกียรติร่วมชมงาน
สมเด็จพระนเรศวรมหาราช
พระราชประวัติ
สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงมีพระนามเดิมว่า พระองค์ดำ ประสูติเมื่อวันพฤหัสบดี ปีเถาะ พ.ศ. 2098 ณ พระราชวังจันทน์ จังหวัดพิษณุโลก เป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช และพระวิสุทธิกษัตริย์ ทรงมีพระพี่นางทรงพระนามว่า พระ สุพรรณกัลยาณี และพระอนุชาทรงพระนามว่า สมเด็จพระเอกาทศ รถ หรือพระองค์ขาว ขณะทรงพระเยาว์ สมเด็จพระชนกทรงพระยศ เป็นเจ้าขัณฑสีมาครองเมืองพิษณุโลก มีอำนาจบังคับหัวเมืองฝ่ายเหนือ ปี พ.ศ. 2103 พระเจ้ากรุงหงสาวดีบุเรงนองยกกอง ทัพมาตีกรุงศรีอยุธยาได้สำเร็จ และทรงขอพระองค์ดำ ซึ่ง มีพระชนมายุ 9 ชันษา ไปเป็นองค์ประกัน ณ กรุงหงสา วดี ปี พ.ศ. 2112 ปีมะโรง ทรงตามเสด็จมากับกองทัพหลวง ของพระเจ้ากรุงหงสาวดีบุเรงนองมาตีกรุงศรีอยุธยา ศึก ครั้งนี้ไทยพ่ายแพ้พม่ายับเยิน พม่าได้สถาปนาพระมหาธรรมราชา ขึ้นเป็นกษัตริย์ปกครองกรุงศรีอยุธยา ในฐานะเมืองประเทศราช สมเด็จ พระมหาธรรมราชาจึงขอ "พระองค์ดำ" พระราชโอรสให้กลับมาช่วย เหลืองานภารกิจของบ้านเมืองในฐานะอุปราช
พระเกียรติคุณ
พ.ศ. 2113 เสด็จออกร่วมรบกับทหารโดยขับไล่กองทัพ เขมรได้สำเร็จ
พ.ศ. 2114 ได้รับสถาปนาให้ปกครองเมืองพิษณุโลก เมื่อ พระชนมายุ 16 พรรษา
พ.ศ. 2117 เสด็จไปรบที่เวียงจันทน์ เผอิญทรงประชวร เป็นไข้ทรพิษจึงเสด็จกลับ
พ.ศ. 2121 ทรงทำสงครามขับไล่พระยาจีนจันตุออกไป จากกรุงศรีอยุธยา
พ.ศ. 2127 ทรงประกาศอิสรภาพที่เมืองแครง และกวาดต้อน คนไทยกลับพระนคร
พ.ศ. 2127-2130 พม่ายกกองทัพมาตีไทยถึง 4 ครั้ง แต่ถูกไทยตีแตกพ่ายกลับไป
พ.ศ. 2133 ทรงเสด็จครองราชย์ ณ กรุงศรีอยุธยาเมื่อพระ ชนมายุ 35 พรรษา
พ.ศ. 2135 ทรงทำสงครามยุทธหัตถี และมังกะยอชะวา สิ้น พระชนม์
พ.ศ. 2136 ทรงยกกองทัพไปตีเขมรและจับพระยาละแวก ทำพิธีปฐมกรรม
พ.ศ. 2138 และ พ.ศ. 2141 ทรงกรีฑาทัพไปตีกรุงหงสาวดี ครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2
พ.ศ. 2148 ทรงกรีฑาทัพไปตีกรุงหงสาวดี เมื่อไปถึง เมืองหางหรือเมืองห้างหลวง ทรงพระประชวรเป็นหัวระลอกขึ้นที่พระ พักตร์ เสด็จสวรรคต ณ ทุ่งแก้ว เมืองห้างหลวง ตรงกับวันขึ้น 8 ค่ำ เดือน 6 ปีมะเส็ง พระชนมายุ 50 พรรษา ครองราชย์สมบัติ ได้ 15 ปี
ที่มา : http://kanchanapisek.or.th/
วันที่ขึ้นเนื้อหา: 11 เมษายน 2553 18:18
จำนวนครั้งที่เปิดอ่าน:131630
พรปวีณ์ ทองด้วง นักประชาสัมพันธ์ สถานอารยธรรมศึกษา โขง-สาละวิน มหาวิทยาลัยนเรศวร
ชั้น 3 อาคารวิสุทธิกษัตริย์ มหาวิทยาลัยนเรศวร โทร. 0 5596 1143
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น